เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
Work like you don't need the money.Dance like no one is watching.Sing like no one is listening.Love like you've never been hurt.And live life every day as if it were your last.

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

The S.E.A Write Award 2554



“บันไดกระจก”  โดย วัฒน์ ยวงแก้ว
สำนักพิมพ์ต้นโมกข์





ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำตลอดชีวิต ของ จักรพันธุ์ กังวาฬ
สำนกพิมพ์ลายแฝด



24 เรื่องสั้นของฟ้า ของ ฟ้า พูลวรลักษณ์
สำนกพิมพ์ใบไม้สีเขียว



กระดูกของความลวง ของ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์
สำนักพิมพ์ในดวงใจ





เรื่องของเรื่อง ของพิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์
สำนักพิมพ์ใบไม้ป่า



แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะจิบกาแฟ ของ จเด็จ กำจรเดช
สำนักพิมพ์ผจญภัย



นิมิตต์วิกาล ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์
สำนักพิมพ์เคหวัตถุ


ประกาศจากคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2554



ภาพรวมของเรื่องสั้นที่ส่งเข้าประกวดรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2554

 คณะกรรมการคัดเลือกได้ร่วมกันสรุปภาพรวมของเรื่องสั้นที่ส่งเข้าประกวดรางวัลซีไรต์ประจำปี 2554  ดังนี้
 เรื่องสั้นที่ส่งเข้าประกวดมีเนื้อหาหลากหลาย ปัญหาของสังคมยังเป็นวัตถุดิบที่ทรงพลัง นักเขียนให้
ความสนใจปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งที่เกิดจากความแตกต่างของคนในสังคม การพัฒนา
ประเทศไปสู่ความทันสมัยตามกระแสทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์และสังคมเสมือน ซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตดั้งเดิม โดยเฉพาะในด้านความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม และจริยธรรม อย่างไรก็ตาม การเสนอปัญหาของท้องถิ่นยังมิได้เปลี่ยนแปลงไป
มากนัก นักเขียนมุ่งเสนอภาพในมุมมองที่ขยายวงมากกว่าเดิม  กล่าวคือ นอกจากจะชี้ให้เห็นว่าชนบทเป็นผู้ถูกกระทำจากภายนอกอย่างไม่มีทางเลือกแล้ว ในบางกรณี ปัญหาของมนุษย์ก็เกิดจากคนที่อยู่ในชุมชนนั้นเอง ส่วนเนื้อหาที่มุ่งเสนอเรื่องราวของวิถีชีวิตสมัยใหม่ นักเขียนแสดงให้เห็นถึงความสับสน
ความแปรปรวนของชีวิต ภาวะของความเป็นมนุษย์ถูกลดทอนลงไป  ท่าทีในการแสดงออกต่อปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาในชนบทและวิถีชีวิตสมัยใหม่
มีทั้งการเสียดสียั่วล้อเพื่อกระตุกให้ผู้อ่านย้อนกลับมาหยั่งถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็มีนักเขียนที่แสดงความห่วงใยต่อสังคม และมีทั้งการเผชิญหน้าด้วยการตั้งคำถามถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ของสังคมผ่าน “โลกภายใน” ของตัวละคร และน้ำเสียงของนักเขียน  อย่างไรก็ตามนักเขียนมีแนวโน้มขยายเรื่องราว
ของตนผ่านการข้ามพรมแดนไปสู่โลกที่กว้างใหญ่ขึ้น ทั้งพรมแดนในด้านชาติพันธุ์  พรมแดนด้านรัฐชาติ พรมแดนด้านเพศ และพรมแดนด้านการเล่าเรื่อง                เมื่อพิจารณาในด้านกลวิธีการนำเสนอแล้ว พบว่านักเขียนส่วนหนึ่งยังคงนำเสนอเรื่องสั้นตามขนบ             แบบที่นิยมกันมาเป็นเวลานาน ดังระบุไว้ในทฤษฎีการประพันธ์เรื่องสั้น  หากแต่ภายใต้โครงสร้างดังกล่าว
นักเขียนได้สร้างความเข้มข้นและความซับซ้อนของเนื้อหาด้วยมุมมองหลากหลาย แม้ว่าปัญหาหลายอย่างที่เสนอในเรื่องสั้นจะเป็นภาพที่หยุดนิ่ง ไม่ต่างจากเรื่องสั้นก่อนหน้านี้  แต่ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าปรากฏการณ์ของสังคมที่ถาโถมใส่มนุษย์มีความยิ่งใหญ่เกินกว่าจะรับมือและต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงได้                 ส่วนการนำเสนออีกรูปแบบหนึ่งนั้นนักเขียนได้พยายามทดลองนำเสนอเรื่องสั้นของตนด้วยกลวิธีต่างๆ โดยพยายามสร้างสรรค์แบบอย่างเฉพาะตนขึ้น เป็นการสร้างอัตลักษณ์การเขียนเรื่องสั้นของตนขึ้นมา ลักษณะดังกล่าวเป็นการสร้างสีสันใหม่ๆ ให้แก่วงการประพันธ์เรื่องสั้นของไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มของการเขียนเรื่องสั้นไทยในอนาคต  กลวิธีการเขียนเรื่องสั้นที่เน้นอัตลักษณ์เฉพาะตนชวนให้ตื่นตาตื่นใจ ปลุกเร้าให้ขบคิดตีความ
                อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงคุณภาพของเรื่องสั้นโดยรวมแล้ว  พบว่าประพันธศิลป์เชิงสร้างสรรค์ทั้งด้านเนื้อหาและการนำเสนอนั้นยังอยู่ระหว่างการแสวงหาลักษณะเฉพาะของยุคสมัยที่โน้มนำให้เชื่อว่ายังมีเส้นทางข้างหน้าอีกยาวไกล

รวมเรื่องสั้นชุด “บันไดกระจก”  โดย วัฒน์ ยวงแก้ว

                รวมเรื่องสั้นชุด “บันไดกระจก” ของวัฒน์ ยวงแก้ว ประกอบด้วยเรื่องสั้นทั้งขนาดยาวและขนาดสั้นจำนวน 10 เรื่อง ทั้งหมดมีจุดเด่นที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
ประการแรก ผู้เขียนสามารถสร้างสรรค์เรื่องได้หลากหลายแนว เช่น แนวสร้างสรรค์ แนวแฟนตาซี แนวครอบครัว แนวจิตวิทยา บางเรื่องก็ผสมผสานระหว่างแนวที่หลากหลาย ทำให้เกิดรสชาติในการอ่านที่ไม่จำเจ ประกอบกับความสามารถของผู้เขียนในการสร้างโครงเรื่องที่ซับซ้อน เรื่องสั้นจึงมีมิติตื้น-ลึก-หนา-บางที่เร้าอารมณ์ ความรู้สึก และความสนใจของผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง
                ประการต่อมา การสร้างเรื่องในลักษณะข้างต้น สอดรับกับเนื้อหาและแนวคิดของเรื่องที่มุ่งฉายภาพสังคมทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค ทั้งในสังคมชนบท สังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบท สังคมเมือง และสังคมไทยโดยรวม ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนซ่อนเงื่อน รวมเรื่องสั้นชุดนี้ทำหน้าที่สะกิดเตือนผู้อ่านถึงปรากฏการณ์ในชีวิตของคนและสังคม ที่ไม่อาจตัดสินชี้ถูกชี้ผิดกันอย่างง่ายๆ อันถือเป็นหน้าที่และเสียงเรียกร้องของวรรณกรรมที่ดีที่พึงมีต่อสังคม
                ประการสุดท้าย รวมเรื่องสั้นชุดนี้ แสดงให้เห็นถึงขนบวิธีของการเขียนเรื่องสั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นขนาดสั้นหรือขนาดยาว หากนักเขียนมีความตั้งใจและความสามารถมากพอ ก็อาจสร้างเรื่องให้มีความแตกต่างจากขนบทั่วไปได้ กล่าวคือ เรามักจะคุ้นเคยกันว่าเรื่องสั้นต้องเกิดจากโครงเรื่องเดียว แต่ “บันไดกระจก” ทำให้เห็นว่านักเขียนสามารถสร้างความซับซ้อนให้กับเรื่องเล่าของตนได้ด้วยกลการวางโครงเรื่องที่ซับซ้อน สอดรับ หรือคู่ขนานกันได้อย่างเป็นระบบ
ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำตลอดชีวิต ของ จักรพันธุ์ กังวาฬ 
            คำโปรยด้านหลังของหนังสือกล่าวว่าผู้เขียนเป็นทั้งนักเขียนและคนทำสารคดี รวมเรื่องสั้นเล่มนี้จึงเป็นการคลี่คลายคลังข้อมูลในงานสารคดีอันเป็น เรื่องจริง จนกลายมาเป็น เรื่องแต่ง ในรูปของเรื่องสั้นจำนวน เรื่อง
            คลังข้อมูลที่หลากหลายนั้น ไม่ได้มาจากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเพียงอย่างเดียว ทว่ายังมาจากการครุ่นคิดถึงทั้งข้อมูลที่ได้รับจากภายนอกและอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในตัวของผู้เขียนเมื่อต้องปะทะกับข้อมูลเหล่านั้นด้วย ที่สุดจึงเกิดเป็น เรื่องเล่า อันทรงพลัง และหลากหลายเข้มข้นด้วยรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละเรื่อง บางเรื่องมีลักษณะแบบสัจนิยมที่ให้รายละเอียดผสานไปกับการวิพากษ์สังคมอย่างแหลมคม พร้อมกับล้อเลียนลักษณะแบบสัจนิยมไปด้วยในตัว บางเรื่องใช้วิธีเล่าเรื่องซ้อนเรื่องเพื่อแสดงให้ผู้อ่านเห็นถึงทวิลักษณ์ทางความคิดอันขัดแย้งลักลั่น และบางเรื่องก็มีกลิ่นอายของเรื่องเหนือธรรมชาติเพื่อเชื่อมโยงเมืองกับชนบทและเครื่องจักรกับมนุษย์ แต่โดยรวมแล้ว ทุกเรื่องล้วนเป็นไปเพื่อ สนทนา กับผู้อ่านในประเด็นที่จริงจังของสังคม
            แม้เรื่องสั้นแต่ละเรื่องจะไม่ได้ตั้งคำถามออกมาอย่างเด่นชัด ทว่าคำถามเหล่านั้นซ่อนตัวอยู่ใต้เรื่องเล่าต่างๆ และทำให้ผู้อ่านต้องฉุกคิดและฉงนฉงายต่อความเป็นไปในสังคมรอบตัวที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องสามัญธรรมดา แต่แท้แล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

24 เรื่องสั้นของฟ้า ของ ฟ้า พูลวรลักษณ์ 
            ที่ว่าง และ ระยะห่าง คือกลวิธีสำคัญในเรื่องสั้นของฟ้า พูลวรลักษณ์ งานของเขามีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งในด้านวิธีคิด การใช้ตรรกะแบบนักปรัชญา และภาษาที่เรียบง่ายลงตัว แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้คือการทิ้งระยะห่าง เล่นล้อกับพื้นที่ ความว่างเปล่า ความใกล้ไกลของเวลา ตั้งคำถามกับความจริง-ลวง และการดำรงอยู่ของมนุษย์
            กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า งานรวมเรื่องสั้นของฟ้า ไม่มุ่งแสวงหาความเป็นไปในวิถีทางโลก ไม่มุ่งวิพากษ์สังคมร่วมสมัยอย่างที่เป็นอยู่ แม้ทุกเรื่องจะเป็นเรื่องสั้นที่เล่าถึงมนุษย์ แต่เรากลับรู้สึกคล้ายสัมผัสจับต้องผู้คนเหล่านั้นไม่ได้ในลักษณะอาการปกติ แต่ละเรื่องจึงฉายภาพความ อปกติ ของมนุษย์ด้วยน้ำเสียงที่เป็นปกติ สะท้อนถึงวิธีคิดและกระบวนการสร้างสรรค์ของผู้เขียน
            นอกจากนี้ กลวิธีการสร้างความรู้สึกว่างเปล่าเหินห่างในเล่ม ยังแสดงถึงความพยายามในการตอบคำถามเชิงอภิปรัชญาอันยิ่งใหญ่เวิ้งว้างและไร้คำตอบ โดยอิงอยู่กับปรัชญาหลายแขนง ทั้งปรัชญาจากโลกตะวันออก ปรัชญาจากโลกตะวันตก และกระทั่งปรัชญาทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งแสดงถึงคลังความรู้ภายในตัวผู้เขียน เรื่องสั้นของเขาอาจมีรสไม่คุ้นชินสำหรับผู้ที่ชื่นชอบงานเขียนตามขนบของเรื่องสั้น แต่ให้รสแปลกใหม่และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
กระดูกของความลวง ของ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์
คือรวมเรื่องสั้น 12 เรื่องที่จำลองโลกของความลวงไว้ได้อย่างมีเอกภาพ สอดคล้องกับบางถ้อยคำในบางเรื่องที่ว่า “เป็นประวัติศาสตร์มหึมาที่ประกอบด้วยความลวง” โดยตีแผ่ความเปราะบางของมนุษย์ในสังคมรอบข้างไว้หลายแง่มุม ทั้งจิตใจด้านมืดที่เต็มไปด้วยการฉกฉวยทำลาย การเมินเฉยต่อความเลวร้ายเบื้องหน้า การบิดเบือนความเป็นจริง ความโง่เขลาต่อสรรพสิ่ง และการยึดมั่นกับการมองสิ่งต่างๆ จากภาพลักษณ์ภายนอกมากกว่าความดีงามภายใน เพื่อสะท้อนความแปรปรวนอันน่าสะทกสะเทือน และด้วยคำถามที่ว่า “โลกเราจะสงบสุขเพียงใดหากไม่ตัดสินชีวิตผู้อื่นด้วยอคติและอวิชชาทั้งหลายทั้งปวง”
          ผู้ประพันธ์เลือกกลวิธีนำเสนอ ด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์หลากหลายรูปแบบ โดยซ่อนสัญลักษณ์ให้ตีความได้อย่างแนบเนียน และด้วยภาษากวีอันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว 

รวมเรื่องสั้น เรื่องของเรื่อง ของพิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์
นำเสนอปัญหาของชุมชนมากกว่าการเพ่งเล็งที่ปัญหาของปัจเจกบุคคลแต่ถ่ายเดียว ผู้เขียนนำเสนอภาพชีวิตของมนุษย์ที่รวมกลุ่มกันอยู่ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ที่ถูกกำกับด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่น ความเชื่อ ความทรงจำ และค่านิยมที่สืบต่อกันมาและไหลเวียนซึมซ่านอยู่ในชีวิตทางสังคมของเขาเหล่านั้น ทั้งนี้ ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นว่าศรัทธาและความเชื่อเป็นพลังสำคัญที่ผลักดันความคิดและการแสดงออกของมนุษย์ โดยที่ศรัทธาและความเชื่อดังกล่าวยังเข้ามามีส่วนในกระบวนการก่อร่างอัตลักษณ์ทั้งในระดับสถาบัน ชุมชน และปัจเจกบุคคลที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์ของจิตสำนึกร่วมทั้งในตัวบทและในบริบท
          ความโดดเด่นของเนื้อหาในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ยังอยู่ที่การนำเสนอวิถีชีวิตชนบทที่ดำรงอยู่ภายใต้แรงเหวี่ยงอันผันผวนปรวนแปรของสังคมสมัยใหม่กอปรกับการกดทับของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม โดยชี้ให้เห็นว่าชีวิตที่ดิ้นรนและเป็นไปในชนบทมีสาเหตุจากความเชื่อและความปรารถนาของมนุษย์ที่ชวนให้มีความหวังหรืออดสูสังเวชไม่ต่างกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับเมืองใหญ่ที่พบมากในวรรณกรรมไทยในทศวรรษหลังนี้
          ในแง่ศิลปะการประพันธ์ เรื่องของเรื่อง แสดงให้เห็นศักยภาพของเรื่องเล่าในการนำเสนอความรู้สึกนึกเห็นของตัวละคร การก่อรูปของเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งอันมีฐานมาจากเรื่องเล่าเรื่องอื่นๆ ทั้งยังนำเสนอภาพและความคิดอันกลมกลืนผ่านจังหวะของการนำเสนอที่เหมาะสม ชวนให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์คล้อยตามและใช้ความครุ่นคิดอย่างลึกซึ้ง

แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะจิบกาแฟ ของ จเด็จ กำจรเดช
เป็นรวมเรื่องสั้น 12 เรื่อง ที่ทำให้เรามองสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยดวงตาที่เปลี่ยนไป เรื่องสั้นเหล่านี้แม้จะดูหนักหน่วงมีมิติที่ทับซ้อน มีมุมมองที่แปลกต่าง หากแต่มีความหมายอันน่าพินิจ
          นักเขียนเน้นการเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิง อย่างซ่อนเงื่อนซ่อนปม กำกับบทบาทความคิดอย่างมีศิลปะในการเรียงร้อยและจัดวางจังหวะถ้อยคำและข้อความ เรื่องราวที่มีลีลาเชิงอุปลักษณ์ ประชดประชัน ยั่วล้อ การละเล่นกับความแปลกประหลาด ความชำรุดของสังคมและปรัชญาที่แฝงอยู่ ลงไปถึงรายละเอียดของอารมณ์มนุษย์ ภายหลังเผชิญความโศกเศร้าและหายนะ เผชิญชะตากรรมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ภาพย่อยในเนื้อหาแต่ละเรื่อง เรียกอารมณ์ และวิธีการมองโลก กระตุ้นให้คิดตามและคิดต่อ
          กล่าวได้ว่า รวมเรื่องสั้นชุดนี้โดดเด่นด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องในแบบเฉพาะตน ฝีมือในเชิงการประพันธ์ มีสีสันในแง่ของการนำเสนอโลกทัศน์ ต่อชีวิต สังคมและโลกที่ลุ่มลึก พร้อมทั้งกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา เข้มข้นด้วยอารมณ์อย่างน่าสนใจ เป็นเรื่องสั้นชุดหนึ่งที่ท้าทายจิตสำนึกของคนในสังคมได้เป็นอย่างดี

นิมิตต์วิกาล ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์  
โลกแห่งเหตุผลและตรรกะแบบวิทยาศาสตร์คือสิ่งที่ได้รับการประเมินว่าควรค่าและมีความหมายสูงสุดในการดำเนินชีวิตของมนุษย์   หากแต่เรื่องสั้นทั้งแปดเรื่องใน นิมิตต์วิกาล  ของอนุสรณ์ ติปยานนท์ ตั้งคำถามกับโลกใบนั้นและพาเราข้ามเส้นแบ่งพรมแดนหลากมิติ  ไม่ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะเป็น ญี่ปุ่น เขมร จีน ไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส หรืออื่นๆ ตามการแบ่งของรัฐชาติสมัยใหม่  ไม่ว่าเขาจะเป็นพุทธ คริสต์  ชายหรือหญิง  แต่วิกฤติของชีวิตเป็นสิ่งที่เกิดกับมนุษย์ทุกผู้นามโดยไม่เลือกสัญชาติ ศาสนา หรือเพศ  
แต่ละเรื่องเล่าในปกรณัมส่วนบุคคลขยายความไปถึงปัญหาของมวลมนุษยชาติ  รอยไหม้ในแผ่นหนังกวางจึงเป็นได้ทั้งประจักษ์พยานเรื่องมนุษย์เบียดเบียนสัตว์ หรือหมายถึงมนุษย์เข่นฆ่ากันเองในสงครามโลกครั้งที่สอง เฉกเช่นเดียวกับการตามหายาฉีดเพื่อรักษาเพื่อนนำไปพบสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเขมร  หรือความเศร้าหลังการตายของแม่เร่งเร้าให้ตัวละครออกเดินทางและได้สัมผัสพลังศรัทธาที่มีต่อพระเจ้าแม้ความตายจะคุกคามเบื้องหน้า  กล่าวได้ว่า การเดินทางจากเรื่องส่วนตัวไปสู่การรับรู้ปัญหาของมนุษย์ร่วมโลกในดินแดนอื่นเป็นอีกหนึ่งพรมแดนที่ผู้เขียนพาผู้อ่านก้าวข้ามไป 
ลีลาการเล่าที่เริ่มต้นด้วยปัญหาในโลกแห่งความจริงเชิงประจักษ์ซึ่งพรั่งพร้อมด้วยข้อมูลอันน่าเชื่อและปล่อยให้เรื่องราวไหลเคลื่อนไปสู่เรื่องเล่าที่เกินจริง ลึกลับ  เพื่อไขปริศนาหรือคลี่คลายปัญหาที่รุมเร้าตัวละคร  เป็นการท้าทายชุดเรื่องเล่าแนวสัจนิยมที่โดดเด่น  ความเหนือจริงที่ปรากฏในเรื่องสั้นทั้งแปดเรื่องมีเพื่อยืนยันว่า  เหตุผลไม่อาจเป็นเพียงเครื่องมือเดียวที่อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆที่มนุษย์ประสบ  ในหลายๆครั้ง  การฟังเสียงของความเชื่อ และศรัทธาในโลกแห่งจิตวิญญาณอาจนำเราไปสู่คำตอบอีกชุดหนึ่งซึ่งมีความหมายต่อชีวิตมากกว่า ศูนย์กลางของเรื่องเล่า ณ แดน บูรพทิศ ความสำคัญของอดีต ความทรงจำ และการดำรงอยู่ของตำนานในโลกสมัยใหม่เพิ่มกลิ่นอายของความเป็นเรื่องเล่าแนวหลังอาณานิคมที่ท้าทายชุดเรื่องเล่ากระแสหลักในปัจจุบัน

กรรมการคัดเลือก ปี 2554  
๑.     ผศ. นัทธนัย ประสานนาม
ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  
๒.     รศ. ประทีป เหมือนนิล
ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์   ม.ราชภัฏเทพสตรี  
๓.     ดร. อารียา หุตินทะ
ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  
๔.     นางนรีภพ จิระโพธิรัตน์ 
บรรณาธิการนิตยสารสกุลไทย  
๕.     ดร.พิเชฐ  แสงทอง 
อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี   
๖.     นายโตมร  ศุขปรีชา 
บรรณาธิการนิตยสารจีเอ็ม   
๗.    อาจารย์ฐนธัช  กองทอง (ประธานคณะกรรมการคัดเลือก)
อาจารย์ประจำสาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร  คณะมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 

วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

"ปรารถนาแห่งแสงจันทร์: หลงเงาจันทร์"

 ...ความอัศจรรย์ในความงามของตัวอักษรเป็นสิ่งที่สัมผัสได้เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เรื่องราวที่ตรงไปตรงมาแบบไทยๆ ไม่มีความซับซ้อนของเนื้อหา ใช้เพียงแค่ความงามของตัวหนังสือในการเล่าเรื่องราว หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมนึกถึงประโยคหนึ่ง ถึงน้ำจะเน่าก็ยังเห็นเงาจันทร์ ในซิทคอม (Situation Comedy) เรื่อง “บางรักซอย 9 เพราะความงามของพระจันทร์ แม้ว่ามันจะทอดเงาผ่านตรงไหนมันก็ยังคงความงามอยู่อย่างนั้นไม่เปลี่ยน เหมือนกับตัวอักษรที่ผ่านการคัดสรรจากปลายปากกาของนักเขียนท่านนี้  เนื้อหาเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมความรักแบบขวัญเรียมที่มีมาเนิ่นนานบางคนอาจจะมองว่ามันเชย แต่ผมกลับไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นเลยขณะที่อ่านหนังสือเล่มนี้...
...เงาจันทร์เป็นนักเขียนสตรีคนที่สองที่ได้เข้าชิง SEAWRITE AWARD ประจำปี 2551 เนื้อหาที่ไม่ได้ทำร้ายหรือให้ร้ายสังคมปัจจุบัน แต่เป็นมุมที่อยากให้คนในสังคมสัมผัสผ่านเรื่องสั้นทั้ง 8 เรื่องในหนังสือเล่มนี้ เพื่อบอกให้คนในสังคมเลือกที่จะสนใจและให้ความรักแก่คนอื่น แทนที่จะทำร้ายผู้อื่นด้วยสิ่งที่ตนเองคิดว่าถูกต้อง ความถูกต้องเป็นเรื่องของกาลเวลา เวลามันจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เราเห็นว่าถูกต้อง อาจจะไม่ใช่ความเป็นจริงเมื่อเวลาผ่านไป ร่องรอยบาดแผลแห่งอดีตเป็นสิ่งที่คนในปัจจุบันควรจะตระหนักถึง เพื่อให้เราเก็บเพียงแค่รอยแห่งความสุขแทนรอยแห่งความโศก



พระจันทร์มีทั้งด้านมืด และด้านสว่างเหมือนกับทุกสิ่งในโลก คล้ายกับความรักในหนังสือเล่มนี้ที่เริ่มต้นสดใสงดงาม แล้วจบลงด้วยโศกนาฏกรรม ผมจำได้ว่าหนังสือแนวนี้เรื่องสุดท้ายที่ทำให้ผมน้ำตาซึมคือ คู่กรรม ของ ทมยันตี จนกระทั่งได้อ่านรวมเรื่องสั้น ปรารถนาแห่งแสงจันทร์ ไม่ว่าจะเป็น ภาระ ดอกหางนกยูง บุหลันแรม และ ด้วยแรงแห่งรัก เรื่องสั้นแสนเศร้าที่ถ่ายทอดโศกนาฏกรรมของความรักที่จบลงด้วยความตาย หรือแม้ตัวละครจะไม่ตายก็เหมือนตายทั้งเป็นกับการยึดติดกับความรักที่เป็นเหมือนเงาจันทร์ที่จับต้องไม่ได้ แต่คนก็ยังยินดีให้แสงเงานั้นทอดผ่านเข้ามาในชีวิต แม้บางที่มันอาจนำทุกข์โศกเข้ามาด้วยก็ตาม...

… “ภาระ” เป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกของหนังสือเล่มนี้ที่เล่าถึงเรื่องราวของนักเขียนหนุ่มที่ล้มเหลวกับการใช้ชีวิต ถึงแม้งานเขียนของเขามักจะถูกมองข้ามโดยสังคมแต่เขาก็ยังยินดีที่จะเรียงร้อยเรื่องราวเหล่านั้นแต่งเป็นหนังสือให้คนอ่าน งานทุกชิ้นของเขาจึงเป็นเหมือนกล่องบรรทุกเรื่องเล่าที่เขาแบกเอาไว้เพียงลำพังจนกระทั่งวินาทีสุดท้ายของชีวิต...
... ดอกหางนกยูง เป็นเรื่องราวรักสามเศร้าของครูหนุ่ม ครูสาวและเด็กสาวข้างบ้าน คุณครูหนุ่มใช้อารมณ์รักของเขาฆ่าผู้หญิงทั้งสองคน ส่วนตัวเขาใช้ชีวิตที่เหลือด้วยความทุกระทมเมื่อนึกถึงหยดเลือดที่กระเซ็นเปื้อนกลีบดอกหางนกยูง...
...  บุหลันแรม ถ่ายทอดเรื่องราวความรักของหญิงอัปลักษณ์ที่มีต่อครูใหญ่รูปงาม จนกระทั่งเธอมองข้ามรักแท้จากชายที่คู่ควรกับเธอ ชายหนุ่มที่โง่เขลาในความรัก ที่ไม่เคยรู้จักว่าความรักนั้นเหมือนเงา แม้กระทั่งความตายก็ไม่อาจฉุดรั้งให้เธอหันย้อนกลับมามองเขาแม้เพียงแต่หายตา หรือเพราะว่าเธอเพียงอยากจะลืมเลือนความทุกข์ระทมจากรักที่เธอมอบให้กับชายอีกคนที่เกลียดชังผู้หญิงอัปลักษณ์เช่นเธอ...
... ด้วยแรงแห่งรัก บทสรุปของพลังแห่งความรักที่จะนำพาความโศกให้หายไปหากเราไม่ยึดติดกับมัน แม้ว่าแรงแห่งรักจะนำมาซึ่งการสูญเสียแต่เราจะได้สิ่งที่เรียกว่ารักแท้กลับมาหากเราเลือกที่จะให้อภัย เพราะความรักมันไม่เคยทำร้ายใคร แต่การยึดติดกับมันต่างหากที่ทำให้เกิดความทุกและโศกนาฏกรรม...

... ปรารถนาแห่งแสงจันทร์ เป็นหนังสือที่รวมเรื่องราวของความรักในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้คนที่เคยผ่านความเจ็บปวดได้เห็นใจและเข้าใจมนุษย์รอบข้างตนเองมากขึ้น เราจักได้เลิกทำร้ายกันรวมทั้งเลิกทำร้ายตัวเอง กาลเวลาจะได้บันทึกความสุขของมนุษย์แทนรอยโศกจนชั่วนิรันดร์ เหมือนกับที่เงาจันทร์กล่าวไว้ในปกหลังของหนังสือเล่มนี้...

... สำหรับผมบอกได้เพียงว่าตอนนี้ผมกำลังหลง เงาจันทร์ หนังสือนักเขียนท่านนี้คงเป็นหนึ่งใน collection ที่ผมจะเก็บไว้อ่านเมื่อนึกถึง "คืนบุหลันเลือนแรมลา" เพราะหัวใจข้าจะได้ระลึกถึงความงามของแสงจันทร์...
-อั๋นน้อย-

“วรรณกรรมตกสระ: ความเหว้าแหว่งของมนุษย์”


...หนอนหนังสือคงไม่มีใครไม่รู้จักนักเขียนหนุ่มไฟแรงชื่อ ภาณุ ตรัยเวช หนุ่มนักเรียนนอกผู้มีความสามารถทางด้านศิลปะรอบด้าน แม้ว่าสาขาวิชาที่เขาร่ำเรียนมาจะเป็นสาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ก็ตาม เด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์ เป็นหนังสือเล่มแรกของนักเขียนท่านนี้ที่ผมมีโอกาสได้อ่าน จากนั้นก็หนังสือรวมเรื่องสั้น วรรณกรรมตกสระ และ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้ตรอมตรม งานเขียนของภาณุทุกเล่มที่ผมกล่าวมานั้น ผมสัมผัสได้ถึงตัวตนของความเป็นมนุษย์ แน่นอนมนุษย์ล้วนเว้าแหว่งและไม่สมบูรณ์ ส่วนที่เว้าแหว่งขาดหายไปของคนมันกลายเป็นวัตถุแหลมคมที่มนุษย์ใช้ทิ่มแทงทำร้ายคนอื่นๆ และมันไม่สามารถนำมาเติมเต็มให้ทุกคนกลายเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์...

...ความเชื่อเรื่องความสมบูรณ์แบบของคนมีมานานมากแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ นักปราชญ์ นักคิด นักเขียน นักศาสนา ให้คำจำกัดความถึงมันแตกต่างกันไป จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ และในอีกอนาคตหลายร้อยหลายพันปี ผมก็ยังเชื่อว่ามนุษย์ยังคงแสวงหาถึงความสมบูรณ์แบบเหมือนกับผู้คนอีกร้อยกว่าปีข้างหน้าใน นักฉลาดมืออาชีพ ที่เชื่อว่าความสมบูรณ์ของคนเราอยู่ที่สติปัญญาและมีความรอบรู้ในทุกเรื่องราวตั้งแต่สมัยโบราณกาลจนถึงสมัยที่เรานำเทคโนโลยีใหม่ให้เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตประจำวัน เชื่อว่าพรสวรรค์ที่ติดตัวมนุษย์มาเท่านั้นจะทำให้คนๆ นั้นทำงานแต่ละประเภทได้ดี ทุกคนล้วนแบ่งงานแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน แม้กระทั่งการหุงข้าวยังต้องมีนักหุงข้าวโดยเฉพาะ สาลิกาเองก็เช่นกันเธอเป็นนักฉลาดที่ผู้คนมากมายต่างชื่นชมในสาขาอาชีพของเธอ แต่ท้ายสุดแล้วเราก็พบว่าผลไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วที่พระเยโฮวาห์เคยตักเตือนไม่ให้มนุษย์กินเข้าไปนั้น มันไม่ได้ทำให้คนเราเข้าถึงศีลธรรมได้เลย...
...กลอนแมงมุม เรื่องราวในห้วงคำนึงของผู้ชายคนหนึ่งต่อเพื่อนผู้หญิงในวัยเด็ก เด็กหญิงผู้เกลียดแมงมุมแต่หลงใหลผีเสื้อ เพราะผีเสื้อมันเกิดจากการกลายร่างของดักแด้ที่ไม่สมบูรณ์กลายเป็นแมลงมีปีกสีสันสวยงาม มันคือความฝันของเธอว่าสักวันหนึ่งเธอจะมีดักแด้เป็นของตัวเอง นอนรออยู่ในนั้น ก่อนที่จะฉีกมันออกมาแล้วกลายเป็นเด็กผู้ชาย เหตุการณ์เพียงหนึ่งคืนของเขาและเธอในวัยเด็กทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองเปลี่ยนไปทั้งชีวิต แต่เขายังคงจดจำ วันที่ลูกชิ้นปิ้งอร่อยเหาะ วันที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย ห้องพักครู และการแต่งงานเป็นเรื่องของชาติหน้า ชาติก่อน วันที่เด็กผู้หญิงห่วยแตกทุกคน ใช่แล้วล่ะ ทุกคนยกเว้น ยกเว้น... เธอคนนั้น...
...หลายๆ ครั้งผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าหากเราอาศัยอยู่ในโลกใบนี้เพียงคนเดียว ปัญหาเรื่องการปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมมันคงไม่มี ภาษาก็คงไม่จำเป็น วิวัฒนาการต่างๆ คงไม่มี แต่ในความเป็นจริงคนบนโลกนี้มีมากมายหากเราเฝ้ามองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ระหว่างคนสองคน คนในครอบครัว หรือระดับสังคม มันก็ยังยากที่จะเข้าใจ เหมือนกับวรรณกรรมที่ไร้สระเรื่องหนึ่งที่ถ่ายทอดให้เป็นเรื่องราวที่ไม่มีใครเข้าใจมันแม้แต่คนเขียนเองก็ตาม...

 

-อั๋นน้อย-

"ข่าวการหายไปของอาริญาและเรื่องราวอื่นๆ: เมื่ออาริญาหายไปยังโลกอีกใบหนึ่ง"


...ต้องยอมรับว่าปี 2551 การประกาศผลรางวัล S.E.A Write Award เงียบมากจนผมไม่ได้ติดตามและไม่คิดว่าหนังสือที่วางไว้บนหัวเตียงเล่มนี้ที่ถูกวางไว้ประมาณ 3 เดือนโดยไม่ได้หยิบจับเลยจะได้เข้าชิง ศิริวร แก้วกาญจน์ เป็นนักเขียนที่ผมชื่นชมและชื่นชอบเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว ไม่ว่ายังไงถ้าผมรู้ข่าวก่อนหน้านี้ว่าเขาได้เข้าชิงเป็นครั้งที่ 5 (จากหนังสือ 6 เล่มปีที่แล้วกวีนิพนธ์ 2 เรื่องได้เข้ารอบสุดท้าย) ผมก็คงเชียร์สุดใจแม้จะยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็ตาม ความประทับใจที่มีต่อนักเขียนคนนี้ไม่ได้เกิดจากการอ่านงานเขียนของเขาครั้งแรกเมื่ออ่านเรื่องสั้นชื่อยาวอย่าง เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง แต่เกิดจากการอ่านกวีนิพนธ์ เมื่อฉันหายไปจากโลกใบหนึ่งบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์หลายๆเรื่อง ถ่ายทอดแก่นและต่อยอดเรื่องราวของหนังแต่ละเรื่องๆผ่านอารมณ์ เหงา เศร้า สุข และประทับใจอย่างมากกับนวนิยายอื้อฉาวเรื่อง กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด นับจากนั้นมาผมก็เป็นแฟนตัวยงของนักเขียนท่านนี้...

 
...เรื่องสั้น ข่าวการหายไปของอาริญาและเรื่องราวอื่นๆ เป็นการเล่าเรื่องที่หม่นเหงาเศร้าสร้อยของสังคมคนเมือง และความสิ้นหวังของสังคมชนบทผ่านเรื่องราว 11 เรื่องในหนังสือเล่มนี้ ความแก่เฒ่าของความงามในยุคเก่าที่หมดไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสมัยใหม่ราวกับว่าโลกใบใหม่กำลังมาแทนที่โลกใบเก่าอย่างรวดเร็วจนผู้คนไม่ทันได้ตั้งตัว มีเรื่องสั้น 2 เรื่องที่เล่าเรื่องราวของหญิงชราที่ไฝ่ฝันถึงความสวยงามของโลกใบเก่าที่มันเคยมีชีวิตชีวา แต่โลกใบใหม่ในเรื่องสั้นอย่างความคล้ายคลึงกันของพวกเรา หรือ ซินเดอเรลลาแห่งกรุงเทพมหานคร มันช่างเปลี่ยวเหงาและฉาบฉวยอันเกิดจากความแตกต่างของการปฏิสัมพันธ์กันของคนในอดีตกับคนปัจจุบัน แล้วโลกใบไหนที่อาริญากำลังแสวงหา ความกลัวเกิดได้กับคนทุกยุคทุกสมัย แต่ปัจจัยต่างหากที่แตกต่างกัน สมัยก่อนผู้คนกลัวหมู่สิงสาราสัตว์ที่เป็นผู้ครอบครองผืนแผ่นดินก่อนที่คนจะไปรุกล้ำ หรือไม่ก็อำนาจเหนือธรรมชาติที่ลึกลับจนผู้คนไม่กล้าต่อกร แต่ความกลัวเหล่านี้มันก็กำลังหายไปพร้อมกับการเติบใหญ่ของโลกใบใหม่ และความกลัวในรูปแบบอื่นที่คนสมัยก่อนไม่เคยเจอแต่มันกำลังคืบคลานและแทรกสอดเข้ามาในสังคมยุคปัจจุบัน...


...นี่คือ 1 ในหนังสือ 5 เล่มใน 9 เล่มที่ได้เข้ารอบสุดท้าย S.E.A. Write Award ประจำปี 2551 ที่ผมประทับใจมากที่สุด อาจจะเป็นเพราะสำนวนภาษาของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ทำให้ผมเคลิ้มจนหยุดอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ 3 ชั่วโมงแห่งความสุข ความเศร้าและซาบซึ้ง หลั่งไหลเข้ามาตลอดเวลาที่ตาของผมจับจ้องที่ตัวอักษรแต่ละตัวๆ ในนวนิยายเล่มนี้ มันคุ้มค่าจริงๆ ครับกับการอ่านวรรณกรรมหลังจากที่ผมหันหลังให้มันมาเกือบ 3 เดือน...
...ถ้าอาริญาคือคนแห่งยุคสมัย ผมเชื่อว่าอาริญาอยากหายไปยังโลกอีกใบที่เธอฝันหา โลกอีกใบหนึ่งที่เป็นความฝันอย่างเดียวในชีวิตของเธอ...

- อั๋นน้อย -

"เราหลงลืมอะไรบางอย่าง:การปะทะกันระหว่างของใหม่กับของเก่า"


 "…วีรชนจริงๆ คือคนที่ตายไปแล้วเท่านั้นนะอาจารย์ ไอ้พวกที่อยู่รอดก็เป็นแค่พวกเก็บดอกผลจากวีรชนที่ล่วงลับไปแล้วเท่านั้น…”

- เรื่องสั้น ฟ้าเดียวกัน วัชระ สัจจะสารสิน

...ผมจำได้ว่าเมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมเรียนอยู่ประมาณปีสามได้มีการสัมมนาที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว เกี่ยวกับบทบาทของนักศึกษาไทยในยุคปัจจุบันโดยการบรรยายในวันนั้นเป็นศิลปินท่านหนึ่งที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน วันนั้นมีเพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่งถามถึงเหตุการณ์บ้านเมืองในสมัยวีรชนคนตุลา เธอคนนั้นรู้สึกว่านักศึกษาปัจจุบันนั้นไร้คุณค่าหาได้มีความกล้าหาญเหมือนสมัยก่อน สำหรับผมในวันนั้นผมมีความเห็นแตกต่างจากเธอโดยสิ้นเชิงการแก้ปัญหาในอดีต ได้แสดงให้เราเห็นความสูญเสียผู้คนที่เราเรียกขานว่าวีรชน การห้ำหั่นกันด้วยความรุนแรงมักจะจบลงด้วยความสูญเสีย แต่คนกลับเห็นว่านั้นคือการเสียสละเพื่อบ้านเมืองโดยไม่คำนึงว่าคนข้างหลังพวกเขาจะเป็นอย่างไร ปัจจุบันนี้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ทำไมคนยังยึดติดกับรูปแบบการเรียกร้องในอดีต บ้านเมืองบอบซ้ำมาพอแล้วกับรูปแบบการปฏิรูปเดิมๆที่คิดถึงตัวเองเป็นใหญ่โดยใช้คำว่าทำเพื่อชาติบังหน้า ในวันนั้นผมไม่ได้ถกเถียงเรื่องนี้กับเธอเพราะเวลาใกล้จะหมด แต่หลังจากอ่านเรื่องสั้น เราหลงลืมอะไรบางอย่างเจ้าของรางวัล S.E.A. WRITE ปีนี้ ภาพวันนั้นแว่บเข้ามาในหัวและอยากจะบอกกับเธอว่า เราไม่ได้ไร้คุณค่าแต่สังคมสมัยใหม่นี้ต่างหากที่มองว่าเราไร้คุณค่า...


...วัชระ สัจจะสารสิน ได้มองสังคมเมืองในมุมมองใหม่ ผู้คนมีความเป็นส่วนตัวไม่สนใจรอบข้าง เห็นได้ชัดกับเรื่องสั้นบางเรื่องที่มองการปฏิวัติเป็นเรื่องปกติไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น แม้จะรู้ข่าวว่ามีการปฏิวัติแต่ก็ยังหนีเมียออกไปหาความสุขกับกิ๊กทั้งคืนในอพาร์ทเม็นต์เล็กๆ แม้ข้างนอกจะเต็มไปด้วยรถถัง หรือการปะทะกันทางความคิดของคนรุ่นเก่าที่ผ่านเหตุการณ์ปฏิวัติและหลงใหลได้ปลืมกับคำว่าวีรชนจนลืมความเป็นพ่อ การล้อเลียนการไม่ยืนตรงเคารพธงชาติของคนบ้าในตลาดแห่งหนึ่งที่แอบบอกเรานัยๆ ว่าการยืนตรงเคารพธงชาติวันละ 2 ครั้งมันบอกได้หรือว่าเรารักชาติ งานเขียนของเขาทุกชิ้นในหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมนึกถึงตัวเอง อาจจะเป็นเพราะว่าอายุผมน้อยกว่าผู้เขียนไม่มากนักมันจึงทำให้เข้าใจงานของเขาได้ไม่ยาก ทุกวันนี้มีผู้สำเร็จการศึกษามากมายในระดับอุดมศึกษาแต่หลายครั้งๆที่ผมได้สัมผัสกับคนที่เรียกตัวเองว่าบัณฑิต มักจะทำให้ผมผิดหวังอาจจะเป็นเพราะว่าสังคมสมัยนี้ทำให้คนเห็นแก่ตัว ส่วนรวมเอาไว้ทีหลัง บางคนเหมือนไม้หลักปักเลนโอนเอนไปตามกระแสสังคมโดยไร้หลักการของตัวเอง ผมโชคดีมากที่เกิดช่วงรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนแปลงจากความเก่ากับความใหม่ มันทำให้เราได้เรียนรู้ว่าอันเก่าและอันใหม่ดีหรือไม่ดีอย่างไร คนเก่าต้องเปิดรับสิ่งใหม่เช่นเดียวกับคนใหม่ต้องเหลียวแลสิ่งเก่า มันน่าจะลดแรงปะทะกันของคนสังคมในปัจจุบันได้...



...อาจจะเป็นเพราะว่าผมเบื่อสถานการณ์บ้านเมืองในตอนนี้ทำให้ความประทับใจต่อหนังสือเล่มนี้มีน้อยกว่าหนังสือบางเล่มใน 9 เล่มที่ได้เข้าชิง S.E.A.WRITE ปีนี้ แต่คุณค่าของหนังสือเล่มนี้อาจจะเหมาะสมแล้วกับสถานการณ์บ้านเมืองที่แบ่งออกเป็นหลายๆกลุ่ม สำหรับผมแล้วไม่อยากยุ่งกับกลุ่มไหนทั้งนั้น เพราะผมอยากอยู่คนเดียว...



- อั๋นน้อย -

วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

" กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปาการ์เด:สร้าง(สรรค์)สันติภาพ หรือทำลายความมั่นคงของชาติ"


"...ทุกวันนี้ข้าได้แต่ขอดุอาอ์ ทุกวันนี้ข้าได้แต่สวดมนต์ภาวนา ข้าอยากให้นกกระดาษในกรงของข้ากลายเป็นนกจริงๆ เป็นนกที่บินได้และร้องเพลงได้จริงๆ ช่วยข้าด้วยอัลลอฮ์ ช่วยข้าด้วยพระพุทธเจ้า ช่วยข้าด้วยอดัม ช่วยข้าด้วย...เหนือตันหยงบารูของเรา แสงแดดแผดจ้าเกินไป ข้ามองอะไรไม่เห็น ช่วยข้าด้วย...ข้ามองอะไรไม่เห็น!..."
-ศิริวร แก้วกาญจน์ -

...ผมรู้สึกอยากอ่านหนังสือเล่มนี้เพราะว่าคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้าได้เคยตัดวรรณกรรมเรื่องนี้ออกจากราย การหนังสือที่ได้เข้ารอบด้วยสาเหตุที่ว่าเป็นวรรณกรรมที่ทำลายความมั่นคงของประเทศชาติโดยมีรัฐสภาเป็นคนตีความ ทั้งที่รางวัลพานแว่นฟ้าเป็นรางวัลสำหรับวรรณกรรมทางการเมืองที่ส่งเสริมแนวคิดประชาธิปไตยแต่ผู้ดูแลประเทศกลับมีความคิดที่ตรงกันข้ามหวาดกลัวความจริง จนไม่เข้าใจความหมายของคำว่าวรรณกรรมการเมืองซึ่งว่านอกจากจะสะท้อนให้เห็นบทบาทและกลไกของอำนาจรัฐที่มีผลกระทบด้านบวกและด้านลบต่อประชาชนแล้ว ยังสะท้อนทัศนคติของผู้คนในสังคมต่อการเมืองด้วย วรรณกรรมการเมืองแทบทั้งหมดที่ส่งเข้าประกวดแสดงภาพการเมืองในด้านลบ เช่น นักการเมืองฉ้อฉล ผู้บริหารคอร์รัปชัน การใช้อำนาจเถื่อนคุกคามประชาชน การคดโกงการเลือกตั้ง ฯลฯ จึงแสดงให้เห็นว่าคนในสังคมไม่มีทัศนะด้านบวกต่อ การเมืองไทย ดังนั้น การพยายามจะให้รางวัลแก่วรรณกรรมที่ แสดง ภาพการเมืองที่สะอาด บริสุทธิ์ ยุติธรรม จึงหาได้ยากและเป็นความคิดอุดมคติเช่นเดียวกับที่คนในสังคมปรารถนาว่าเมื่อไรการเมืองของจริงจะเป็นเช่นนั้นเสียที การจัดประกวดวรรณกรรมการเมืองจึงเป็นการแสดงความใจกว้างของรัฐที่ให้อิสระและเสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สิ่งนี้คือหลักการและอุดมการณ์อันแท้จริงของการส่งเสริมระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข...

...คุณลักษณะอีกประการของวรรณกรรมทั่วไปนั้นเกิดจากการหลอมรวมประสบการณ์และจินตนาการเข้าด้วยกันอย่างมีศิลปะวรรณกรรมเป็นเรื่องสมมติ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงแต่กวีและนักเขียนนำวัตถุดิบมาจากประสบการณ์จริงและเป็นประสบการณ์ร่วมของคนในสังคม จึงทำให้เกิดความ สมจริง และคนอ่านที่หลงในมายาของวรรณกรรมก็รู้สึกราวกับว่าเป็น ความจริง จึงทำให้คนอ่านเคลิบเคลิ้ม เช่น เชื่อว่าแม่พลอยมีชีวิตจริง หรือไม่ก็จับผิดว่าคนเขียนไม่เขียนตามข้อเท็จจริง ดังปรากฏในกรณีนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ และนวนิยายหรือเรื่องสั้นการเมือง อันที่จริง การที่ผู้อ่านเคลิ้มคล้อยตามวรรณกรรมไม่ใช่เป็นข้อด้อย หรือข้อบกพร่อง แต่กลับบ่งชี้ให้เห็นฝีมือทางวรรณศิลป์ของผู้แต่ง ที่ใช้พลังทางศิลปะโน้มน้าวผู้อ่านให้เข้าไปสู่มายาคติของวรรณกรรมได้ ดังนั้น การที่กรรมการบางท่านมุ่งจับผิดข้อเท็จจริงในเรื่องสั้นและบทกวี จึงนับว่ายังไม่เข้าใจธรรมชาติของวรรณกรรม...

...และเหนือกว่าสิ่งใดนั้นการตีความวรรณกรรมเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ต้องตีความนัยบางอย่างที่ผู้ประพันธ์แอบซ่อนไว้อย่างมีศิลปะ ในบางครั้งอาจมีการเขียนกระแทกใจคนอ่านให้รู้สึกถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดการหวงแหนและปกป้องไม่ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช้มันในทางที่ผิด และผมก็เชื่อว่าไม่มีกวีท่านใหนหรอกที่มีความมุ่งหมายจะทำลายความมั่นคงของประเทศตัวเอง...

"เมื่อได้อ่านกรณีฆาตกรรมฯ เหมือนเราได้เดินสำรวจจิตใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความรู้สึกของมุสลิม ความรู้สึกของเจ้าหน้าที่รัฐ มุมมองของชาวต่างชาติ และต้นตอของความรุนแรง ผลสุดท้ายคนที่ทุกข์ที่สุด คือ ชาวบ้าน ผมใช้เวลาอ่านหนังสือเล่มนี้ชั่วโมงกว่าๆ ในร้านกาแฟแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ข้อความที่มีตัวอักษรสีชมพูด้านบน คือ ย่อหน้าสุดท้ายของหนังสือ ผมอ่านได้เพียงครึ่งเดียวของข้อความดังกล่าว น้ำตาผมไหลเป็นทาง ผมต้องหันหน้าเข้ากำแพงเพื่อหลบสายตาของคนอื่นๆ ผมรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ผมช่วยเหลือคนไทยด้วยกันไม่ได้ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง สิ่งที่ผมทำได้ในตอนนี้ก็ไม่ได้ต่างจากชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำได้เพียงสวดภาวนาขอให้เรื่องร้ายมันผ่านพ้นไป แตกต่างกันแค่เพียงที่ๆ ผมอยู่อาศัยในตอนนี้มันปลอดภัยกว่ามากมาย"


-อั๋นน้อย-
 

วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

"ตามหาชั่วชีวิต: ยิ่งแสวงหาสิ่งที่ค้นหายิ่งไกลออกไป"




...จำเป็นไหมที่คนจะชอบสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด หรือถนัดสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ บางคนค้นพบตั้งแต่เด็ก นับว่าคนๆ นั้นโชคดีไป แต่บางคนต้องใช้เวลาเกือบทั้งชีวิต ตามหาชั่วชีวิต เป็นงานของนักเขียนสตรีท่านหนึ่งที่ทิ้งการเขียนหนังสือไปเกือบ 5 ปี เสาวรี ใช้เวลานั้นหมดไปกับการทำงานที่ได้เงินมาเป็นกอบเป็นกำ มีความสุขและชื่นชมกับรายได้ที่ได้รับจนสูญเสียซึ่งพลังในการเขียนหนังสือ จวบจนได้รับกำลังใจและการเยียวยาจากคนรอบข้างให้กลับมาเขียนหนังสืออีกครั้ง ในบรรดาหนังสือที่ได้เข้ารอบ 9 เล่มมีผลงานของนักเขียนสตรีอยู่ 2 เรื่อง คือ ตามหาชั่วชีวิต กับ ปรารถนาแห่งแสงจันทร์ ทั้งสองเล่มเป็นผลงานที่โดดเด่นทางด้านการใช้ภาษา แม้ว่าเค้าโครงเรื่องหรือรูปแบบอาจจะไม่มีความแปลกใหม่และทันสมัยเท่ากับงานเขียนชิ้นอื่นๆ แต่ทั้งสองเล่มมีวรรณศิลป์ในการเรียงร้อยถ้อยคำได้อย่างน่าอ่าน แต่ว่ามุมมองแต่ละเรื่องของ เสาวรี นั้นค่อนไปทาง Feminist เล่าเรื่องราวของเพศหญิงที่ถูกกระทำโดยฝ่ายชายและตัวละครชายแทบทุกตัวมักจะไม่สมประกอบไม่ทางกายก็ทางจิตใจ ผู้เขียนคงอยากจะสะท้อนความจริงด้านมืดของอัตลักษณ์ทางเพศเท่านั้น ในสายตาของผม ตามหาชั่วชีวิต จึงเป็นงานเขียนของผู้หญิงเพื่อผู้หญิง...



... “สังข์ทอง” เป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกของหนังสือเล่มนี้ที่เล่าถึงพระสังข์ยุคโลกาภิวัฒณ์ที่แปลงร่างโดยการศัลยกรรม วัยรุ่นสมัยนี้ยึดติดกับความงามทางกายที่ฉาบฉวย ดูจากพฤติกรรมการประกวดร้องเพลงในสมัยนี้ที่มาตรฐานในการตัดสินใจจากคนกลุ่มหนึ่งเรียกกันว่าการ
Vote รักใครชอบใครก็ให้คะแนนไม่จำกัดจำนวนครั้งหรือจำนวนคนที่ถูก Vote ส่วนใหญ่แล้วคนที่ชนะมักจะมีรูปลักษณ์ที่เข้าตาคนส่วนใหญ่ แม้น้ำเสียงจะสู้คนที่แพ้ไม่ได้ก็ตาม แต่สังข์ทองไม่เคยได้โอกาสนั้นเพราะรูปกายที่อัปลักษณ์เหมือนกับตัวตลกชื่อเดียวกัน แม้เขาจะมีเสียงที่ดีหรือทรงพลังแค่ไหน ผู้คนก็ไม่เคยให้โอกาสจนกระทั่งเขาต้องศัลยกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดูดี สังข์ทองกับคนในสังคมก็ไม่แตกต่างกันทุกคนยังยึดติดกับรูปภายนอกจนลืมสิ่งงามภายใน จุดจบคือโศกนาฏกรรมของคนกลับไม่ได้ไปไม่ถึง “ตามหาชั่วชีวิต” คืออีกหนึ่งเรื่องสั้นในหนังสือชื่อเดียวกัน เรื่องราวที่ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเรื่อง “สิทธารถะ” ของ Hermann Hesse สิ่งสูงสุดที่คนกำลังแสวงหามันอยู่ไม่ไกลตัวเรา ยิ่งแสวงหาสิ่งที่ค้นหายิ่งไกลออกไป สุดท้ายแล้วการเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันแล้วปล่อยวางนั้นคือสัจธรรมที่ผมได้หลังจากอ่านจบ...



...อีกสองเรื่องที่อยากแนะนำคือ “ภาพเขียนมรณะ” และ “นักเขียน” เรื่อง  “ภาพเขียนมรณะ” ถ่ายทอดเรื่องราวของครอบครัวที่มีผู้ชายเป็นกำหนด พ่อผู้เป็นอัจฉริยะด้านการวาดภาพ ศิลปินผู้ถ่ายทอดเรื่องราวแห่งพุทธะที่ตัวเองไม่เคยเข้าถึง ภาพเขียนที่สร้างรอยรักร้าวให้กับผู้เป็นแม่ที่อยู่ในโอวาสของเขาตลอดมา ภาพที่เขียนท่ามกลางราคะตัณหาและความเกลียดชังของแม่และลูกสาว แต่เขากลับหลงใหลรักไคร่จนสามารถเสียสละชีวิตเพื่อปกป้องมัน “นักเขียน” เป็นเรื่องราวของหนุ่มน้อยคนหนึ่งที่ฝันอยากจะเป็นนักเขียนเพราะได้แรงบันดาลใจจากนักเขียนข้างห้องที่พักในหอพักเดียวกัน เขาได้พบว่างานเขียนกับนักเขียนสิ่งไหนกันที่เขาจะต้องศรัทธา นักเขียนอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่ใครๆวาดไว้ แต่สิ่งที่คนควรศรัทธาคือหนังสือหรืองานเขียนเพราะนั้นคือสิ่งที่เขาถ่ายทอด ศิลปินไม่ว่าจะแขนงไหนทั้งนักเขียนหรือนักวาดในเรื่อง “ภาพเขียนมรณะ” ใช่ว่าจะเข้าถึงสิ่งที่ตัวเองถ่ายทอด พวกเขาทำได้เพียงถ่ายทอดออกมาให้คนตีความเท่านั้น...



...รวมเรื่องสั้น “ตามหาชั่วชีวิต” เป็นมุมมองที่ผู้หญิงบอกความรู้สึกที่มีต่อเพศชายอย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น จนบางครั้งผมเผลอคิดว่าผู้เขียนจงเกลียดจงชังผู้ชาย หรือมีอดีตอะไรบางอย่างหรือเปล่า แต่ผมก็อ่านหนังสือเล่มนี้จนจบ เพราะผมเชื่อในความเป็นคน ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงทุกคนมีโอกาสผิดพลาดได้เท่าๆกัน ความแตกต่างกันระหว่างเพศนั้นผมถือว่าเป็นความได้เปรียบของแต่ละเพศขอเพียงแค่ใช้ความได้เปรียบเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์โดยไม่เบียดเบียนกันและกัน หรืออีกนัยยะหนึ่งสิ่งที่ผู้เขียนกำลังบอกคือเธอกำลังตามหาใครสักคนอยู่หรือเปล่า...


 - อั๋นน้อย -