เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
Work like you don't need the money.Dance like no one is watching.Sing like no one is listening.Love like you've never been hurt.And live life every day as if it were your last.

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

The S.E.A Write Award 2554



“บันไดกระจก”  โดย วัฒน์ ยวงแก้ว
สำนักพิมพ์ต้นโมกข์





ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำตลอดชีวิต ของ จักรพันธุ์ กังวาฬ
สำนกพิมพ์ลายแฝด



24 เรื่องสั้นของฟ้า ของ ฟ้า พูลวรลักษณ์
สำนกพิมพ์ใบไม้สีเขียว



กระดูกของความลวง ของ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์
สำนักพิมพ์ในดวงใจ





เรื่องของเรื่อง ของพิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์
สำนักพิมพ์ใบไม้ป่า



แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะจิบกาแฟ ของ จเด็จ กำจรเดช
สำนักพิมพ์ผจญภัย



นิมิตต์วิกาล ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์
สำนักพิมพ์เคหวัตถุ


ประกาศจากคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2554



ภาพรวมของเรื่องสั้นที่ส่งเข้าประกวดรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2554

 คณะกรรมการคัดเลือกได้ร่วมกันสรุปภาพรวมของเรื่องสั้นที่ส่งเข้าประกวดรางวัลซีไรต์ประจำปี 2554  ดังนี้
 เรื่องสั้นที่ส่งเข้าประกวดมีเนื้อหาหลากหลาย ปัญหาของสังคมยังเป็นวัตถุดิบที่ทรงพลัง นักเขียนให้
ความสนใจปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งที่เกิดจากความแตกต่างของคนในสังคม การพัฒนา
ประเทศไปสู่ความทันสมัยตามกระแสทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์และสังคมเสมือน ซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตดั้งเดิม โดยเฉพาะในด้านความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม และจริยธรรม อย่างไรก็ตาม การเสนอปัญหาของท้องถิ่นยังมิได้เปลี่ยนแปลงไป
มากนัก นักเขียนมุ่งเสนอภาพในมุมมองที่ขยายวงมากกว่าเดิม  กล่าวคือ นอกจากจะชี้ให้เห็นว่าชนบทเป็นผู้ถูกกระทำจากภายนอกอย่างไม่มีทางเลือกแล้ว ในบางกรณี ปัญหาของมนุษย์ก็เกิดจากคนที่อยู่ในชุมชนนั้นเอง ส่วนเนื้อหาที่มุ่งเสนอเรื่องราวของวิถีชีวิตสมัยใหม่ นักเขียนแสดงให้เห็นถึงความสับสน
ความแปรปรวนของชีวิต ภาวะของความเป็นมนุษย์ถูกลดทอนลงไป  ท่าทีในการแสดงออกต่อปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาในชนบทและวิถีชีวิตสมัยใหม่
มีทั้งการเสียดสียั่วล้อเพื่อกระตุกให้ผู้อ่านย้อนกลับมาหยั่งถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็มีนักเขียนที่แสดงความห่วงใยต่อสังคม และมีทั้งการเผชิญหน้าด้วยการตั้งคำถามถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ของสังคมผ่าน “โลกภายใน” ของตัวละคร และน้ำเสียงของนักเขียน  อย่างไรก็ตามนักเขียนมีแนวโน้มขยายเรื่องราว
ของตนผ่านการข้ามพรมแดนไปสู่โลกที่กว้างใหญ่ขึ้น ทั้งพรมแดนในด้านชาติพันธุ์  พรมแดนด้านรัฐชาติ พรมแดนด้านเพศ และพรมแดนด้านการเล่าเรื่อง                เมื่อพิจารณาในด้านกลวิธีการนำเสนอแล้ว พบว่านักเขียนส่วนหนึ่งยังคงนำเสนอเรื่องสั้นตามขนบ             แบบที่นิยมกันมาเป็นเวลานาน ดังระบุไว้ในทฤษฎีการประพันธ์เรื่องสั้น  หากแต่ภายใต้โครงสร้างดังกล่าว
นักเขียนได้สร้างความเข้มข้นและความซับซ้อนของเนื้อหาด้วยมุมมองหลากหลาย แม้ว่าปัญหาหลายอย่างที่เสนอในเรื่องสั้นจะเป็นภาพที่หยุดนิ่ง ไม่ต่างจากเรื่องสั้นก่อนหน้านี้  แต่ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าปรากฏการณ์ของสังคมที่ถาโถมใส่มนุษย์มีความยิ่งใหญ่เกินกว่าจะรับมือและต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงได้                 ส่วนการนำเสนออีกรูปแบบหนึ่งนั้นนักเขียนได้พยายามทดลองนำเสนอเรื่องสั้นของตนด้วยกลวิธีต่างๆ โดยพยายามสร้างสรรค์แบบอย่างเฉพาะตนขึ้น เป็นการสร้างอัตลักษณ์การเขียนเรื่องสั้นของตนขึ้นมา ลักษณะดังกล่าวเป็นการสร้างสีสันใหม่ๆ ให้แก่วงการประพันธ์เรื่องสั้นของไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มของการเขียนเรื่องสั้นไทยในอนาคต  กลวิธีการเขียนเรื่องสั้นที่เน้นอัตลักษณ์เฉพาะตนชวนให้ตื่นตาตื่นใจ ปลุกเร้าให้ขบคิดตีความ
                อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงคุณภาพของเรื่องสั้นโดยรวมแล้ว  พบว่าประพันธศิลป์เชิงสร้างสรรค์ทั้งด้านเนื้อหาและการนำเสนอนั้นยังอยู่ระหว่างการแสวงหาลักษณะเฉพาะของยุคสมัยที่โน้มนำให้เชื่อว่ายังมีเส้นทางข้างหน้าอีกยาวไกล

รวมเรื่องสั้นชุด “บันไดกระจก”  โดย วัฒน์ ยวงแก้ว

                รวมเรื่องสั้นชุด “บันไดกระจก” ของวัฒน์ ยวงแก้ว ประกอบด้วยเรื่องสั้นทั้งขนาดยาวและขนาดสั้นจำนวน 10 เรื่อง ทั้งหมดมีจุดเด่นที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
ประการแรก ผู้เขียนสามารถสร้างสรรค์เรื่องได้หลากหลายแนว เช่น แนวสร้างสรรค์ แนวแฟนตาซี แนวครอบครัว แนวจิตวิทยา บางเรื่องก็ผสมผสานระหว่างแนวที่หลากหลาย ทำให้เกิดรสชาติในการอ่านที่ไม่จำเจ ประกอบกับความสามารถของผู้เขียนในการสร้างโครงเรื่องที่ซับซ้อน เรื่องสั้นจึงมีมิติตื้น-ลึก-หนา-บางที่เร้าอารมณ์ ความรู้สึก และความสนใจของผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง
                ประการต่อมา การสร้างเรื่องในลักษณะข้างต้น สอดรับกับเนื้อหาและแนวคิดของเรื่องที่มุ่งฉายภาพสังคมทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค ทั้งในสังคมชนบท สังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบท สังคมเมือง และสังคมไทยโดยรวม ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนซ่อนเงื่อน รวมเรื่องสั้นชุดนี้ทำหน้าที่สะกิดเตือนผู้อ่านถึงปรากฏการณ์ในชีวิตของคนและสังคม ที่ไม่อาจตัดสินชี้ถูกชี้ผิดกันอย่างง่ายๆ อันถือเป็นหน้าที่และเสียงเรียกร้องของวรรณกรรมที่ดีที่พึงมีต่อสังคม
                ประการสุดท้าย รวมเรื่องสั้นชุดนี้ แสดงให้เห็นถึงขนบวิธีของการเขียนเรื่องสั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นขนาดสั้นหรือขนาดยาว หากนักเขียนมีความตั้งใจและความสามารถมากพอ ก็อาจสร้างเรื่องให้มีความแตกต่างจากขนบทั่วไปได้ กล่าวคือ เรามักจะคุ้นเคยกันว่าเรื่องสั้นต้องเกิดจากโครงเรื่องเดียว แต่ “บันไดกระจก” ทำให้เห็นว่านักเขียนสามารถสร้างความซับซ้อนให้กับเรื่องเล่าของตนได้ด้วยกลการวางโครงเรื่องที่ซับซ้อน สอดรับ หรือคู่ขนานกันได้อย่างเป็นระบบ
ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำตลอดชีวิต ของ จักรพันธุ์ กังวาฬ 
            คำโปรยด้านหลังของหนังสือกล่าวว่าผู้เขียนเป็นทั้งนักเขียนและคนทำสารคดี รวมเรื่องสั้นเล่มนี้จึงเป็นการคลี่คลายคลังข้อมูลในงานสารคดีอันเป็น เรื่องจริง จนกลายมาเป็น เรื่องแต่ง ในรูปของเรื่องสั้นจำนวน เรื่อง
            คลังข้อมูลที่หลากหลายนั้น ไม่ได้มาจากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเพียงอย่างเดียว ทว่ายังมาจากการครุ่นคิดถึงทั้งข้อมูลที่ได้รับจากภายนอกและอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในตัวของผู้เขียนเมื่อต้องปะทะกับข้อมูลเหล่านั้นด้วย ที่สุดจึงเกิดเป็น เรื่องเล่า อันทรงพลัง และหลากหลายเข้มข้นด้วยรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละเรื่อง บางเรื่องมีลักษณะแบบสัจนิยมที่ให้รายละเอียดผสานไปกับการวิพากษ์สังคมอย่างแหลมคม พร้อมกับล้อเลียนลักษณะแบบสัจนิยมไปด้วยในตัว บางเรื่องใช้วิธีเล่าเรื่องซ้อนเรื่องเพื่อแสดงให้ผู้อ่านเห็นถึงทวิลักษณ์ทางความคิดอันขัดแย้งลักลั่น และบางเรื่องก็มีกลิ่นอายของเรื่องเหนือธรรมชาติเพื่อเชื่อมโยงเมืองกับชนบทและเครื่องจักรกับมนุษย์ แต่โดยรวมแล้ว ทุกเรื่องล้วนเป็นไปเพื่อ สนทนา กับผู้อ่านในประเด็นที่จริงจังของสังคม
            แม้เรื่องสั้นแต่ละเรื่องจะไม่ได้ตั้งคำถามออกมาอย่างเด่นชัด ทว่าคำถามเหล่านั้นซ่อนตัวอยู่ใต้เรื่องเล่าต่างๆ และทำให้ผู้อ่านต้องฉุกคิดและฉงนฉงายต่อความเป็นไปในสังคมรอบตัวที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องสามัญธรรมดา แต่แท้แล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

24 เรื่องสั้นของฟ้า ของ ฟ้า พูลวรลักษณ์ 
            ที่ว่าง และ ระยะห่าง คือกลวิธีสำคัญในเรื่องสั้นของฟ้า พูลวรลักษณ์ งานของเขามีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งในด้านวิธีคิด การใช้ตรรกะแบบนักปรัชญา และภาษาที่เรียบง่ายลงตัว แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้คือการทิ้งระยะห่าง เล่นล้อกับพื้นที่ ความว่างเปล่า ความใกล้ไกลของเวลา ตั้งคำถามกับความจริง-ลวง และการดำรงอยู่ของมนุษย์
            กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า งานรวมเรื่องสั้นของฟ้า ไม่มุ่งแสวงหาความเป็นไปในวิถีทางโลก ไม่มุ่งวิพากษ์สังคมร่วมสมัยอย่างที่เป็นอยู่ แม้ทุกเรื่องจะเป็นเรื่องสั้นที่เล่าถึงมนุษย์ แต่เรากลับรู้สึกคล้ายสัมผัสจับต้องผู้คนเหล่านั้นไม่ได้ในลักษณะอาการปกติ แต่ละเรื่องจึงฉายภาพความ อปกติ ของมนุษย์ด้วยน้ำเสียงที่เป็นปกติ สะท้อนถึงวิธีคิดและกระบวนการสร้างสรรค์ของผู้เขียน
            นอกจากนี้ กลวิธีการสร้างความรู้สึกว่างเปล่าเหินห่างในเล่ม ยังแสดงถึงความพยายามในการตอบคำถามเชิงอภิปรัชญาอันยิ่งใหญ่เวิ้งว้างและไร้คำตอบ โดยอิงอยู่กับปรัชญาหลายแขนง ทั้งปรัชญาจากโลกตะวันออก ปรัชญาจากโลกตะวันตก และกระทั่งปรัชญาทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งแสดงถึงคลังความรู้ภายในตัวผู้เขียน เรื่องสั้นของเขาอาจมีรสไม่คุ้นชินสำหรับผู้ที่ชื่นชอบงานเขียนตามขนบของเรื่องสั้น แต่ให้รสแปลกใหม่และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
กระดูกของความลวง ของ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์
คือรวมเรื่องสั้น 12 เรื่องที่จำลองโลกของความลวงไว้ได้อย่างมีเอกภาพ สอดคล้องกับบางถ้อยคำในบางเรื่องที่ว่า “เป็นประวัติศาสตร์มหึมาที่ประกอบด้วยความลวง” โดยตีแผ่ความเปราะบางของมนุษย์ในสังคมรอบข้างไว้หลายแง่มุม ทั้งจิตใจด้านมืดที่เต็มไปด้วยการฉกฉวยทำลาย การเมินเฉยต่อความเลวร้ายเบื้องหน้า การบิดเบือนความเป็นจริง ความโง่เขลาต่อสรรพสิ่ง และการยึดมั่นกับการมองสิ่งต่างๆ จากภาพลักษณ์ภายนอกมากกว่าความดีงามภายใน เพื่อสะท้อนความแปรปรวนอันน่าสะทกสะเทือน และด้วยคำถามที่ว่า “โลกเราจะสงบสุขเพียงใดหากไม่ตัดสินชีวิตผู้อื่นด้วยอคติและอวิชชาทั้งหลายทั้งปวง”
          ผู้ประพันธ์เลือกกลวิธีนำเสนอ ด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์หลากหลายรูปแบบ โดยซ่อนสัญลักษณ์ให้ตีความได้อย่างแนบเนียน และด้วยภาษากวีอันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว 

รวมเรื่องสั้น เรื่องของเรื่อง ของพิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์
นำเสนอปัญหาของชุมชนมากกว่าการเพ่งเล็งที่ปัญหาของปัจเจกบุคคลแต่ถ่ายเดียว ผู้เขียนนำเสนอภาพชีวิตของมนุษย์ที่รวมกลุ่มกันอยู่ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ที่ถูกกำกับด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่น ความเชื่อ ความทรงจำ และค่านิยมที่สืบต่อกันมาและไหลเวียนซึมซ่านอยู่ในชีวิตทางสังคมของเขาเหล่านั้น ทั้งนี้ ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นว่าศรัทธาและความเชื่อเป็นพลังสำคัญที่ผลักดันความคิดและการแสดงออกของมนุษย์ โดยที่ศรัทธาและความเชื่อดังกล่าวยังเข้ามามีส่วนในกระบวนการก่อร่างอัตลักษณ์ทั้งในระดับสถาบัน ชุมชน และปัจเจกบุคคลที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์ของจิตสำนึกร่วมทั้งในตัวบทและในบริบท
          ความโดดเด่นของเนื้อหาในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ยังอยู่ที่การนำเสนอวิถีชีวิตชนบทที่ดำรงอยู่ภายใต้แรงเหวี่ยงอันผันผวนปรวนแปรของสังคมสมัยใหม่กอปรกับการกดทับของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม โดยชี้ให้เห็นว่าชีวิตที่ดิ้นรนและเป็นไปในชนบทมีสาเหตุจากความเชื่อและความปรารถนาของมนุษย์ที่ชวนให้มีความหวังหรืออดสูสังเวชไม่ต่างกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับเมืองใหญ่ที่พบมากในวรรณกรรมไทยในทศวรรษหลังนี้
          ในแง่ศิลปะการประพันธ์ เรื่องของเรื่อง แสดงให้เห็นศักยภาพของเรื่องเล่าในการนำเสนอความรู้สึกนึกเห็นของตัวละคร การก่อรูปของเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งอันมีฐานมาจากเรื่องเล่าเรื่องอื่นๆ ทั้งยังนำเสนอภาพและความคิดอันกลมกลืนผ่านจังหวะของการนำเสนอที่เหมาะสม ชวนให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์คล้อยตามและใช้ความครุ่นคิดอย่างลึกซึ้ง

แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะจิบกาแฟ ของ จเด็จ กำจรเดช
เป็นรวมเรื่องสั้น 12 เรื่อง ที่ทำให้เรามองสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยดวงตาที่เปลี่ยนไป เรื่องสั้นเหล่านี้แม้จะดูหนักหน่วงมีมิติที่ทับซ้อน มีมุมมองที่แปลกต่าง หากแต่มีความหมายอันน่าพินิจ
          นักเขียนเน้นการเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิง อย่างซ่อนเงื่อนซ่อนปม กำกับบทบาทความคิดอย่างมีศิลปะในการเรียงร้อยและจัดวางจังหวะถ้อยคำและข้อความ เรื่องราวที่มีลีลาเชิงอุปลักษณ์ ประชดประชัน ยั่วล้อ การละเล่นกับความแปลกประหลาด ความชำรุดของสังคมและปรัชญาที่แฝงอยู่ ลงไปถึงรายละเอียดของอารมณ์มนุษย์ ภายหลังเผชิญความโศกเศร้าและหายนะ เผชิญชะตากรรมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ภาพย่อยในเนื้อหาแต่ละเรื่อง เรียกอารมณ์ และวิธีการมองโลก กระตุ้นให้คิดตามและคิดต่อ
          กล่าวได้ว่า รวมเรื่องสั้นชุดนี้โดดเด่นด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องในแบบเฉพาะตน ฝีมือในเชิงการประพันธ์ มีสีสันในแง่ของการนำเสนอโลกทัศน์ ต่อชีวิต สังคมและโลกที่ลุ่มลึก พร้อมทั้งกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา เข้มข้นด้วยอารมณ์อย่างน่าสนใจ เป็นเรื่องสั้นชุดหนึ่งที่ท้าทายจิตสำนึกของคนในสังคมได้เป็นอย่างดี

นิมิตต์วิกาล ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์  
โลกแห่งเหตุผลและตรรกะแบบวิทยาศาสตร์คือสิ่งที่ได้รับการประเมินว่าควรค่าและมีความหมายสูงสุดในการดำเนินชีวิตของมนุษย์   หากแต่เรื่องสั้นทั้งแปดเรื่องใน นิมิตต์วิกาล  ของอนุสรณ์ ติปยานนท์ ตั้งคำถามกับโลกใบนั้นและพาเราข้ามเส้นแบ่งพรมแดนหลากมิติ  ไม่ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะเป็น ญี่ปุ่น เขมร จีน ไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส หรืออื่นๆ ตามการแบ่งของรัฐชาติสมัยใหม่  ไม่ว่าเขาจะเป็นพุทธ คริสต์  ชายหรือหญิง  แต่วิกฤติของชีวิตเป็นสิ่งที่เกิดกับมนุษย์ทุกผู้นามโดยไม่เลือกสัญชาติ ศาสนา หรือเพศ  
แต่ละเรื่องเล่าในปกรณัมส่วนบุคคลขยายความไปถึงปัญหาของมวลมนุษยชาติ  รอยไหม้ในแผ่นหนังกวางจึงเป็นได้ทั้งประจักษ์พยานเรื่องมนุษย์เบียดเบียนสัตว์ หรือหมายถึงมนุษย์เข่นฆ่ากันเองในสงครามโลกครั้งที่สอง เฉกเช่นเดียวกับการตามหายาฉีดเพื่อรักษาเพื่อนนำไปพบสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเขมร  หรือความเศร้าหลังการตายของแม่เร่งเร้าให้ตัวละครออกเดินทางและได้สัมผัสพลังศรัทธาที่มีต่อพระเจ้าแม้ความตายจะคุกคามเบื้องหน้า  กล่าวได้ว่า การเดินทางจากเรื่องส่วนตัวไปสู่การรับรู้ปัญหาของมนุษย์ร่วมโลกในดินแดนอื่นเป็นอีกหนึ่งพรมแดนที่ผู้เขียนพาผู้อ่านก้าวข้ามไป 
ลีลาการเล่าที่เริ่มต้นด้วยปัญหาในโลกแห่งความจริงเชิงประจักษ์ซึ่งพรั่งพร้อมด้วยข้อมูลอันน่าเชื่อและปล่อยให้เรื่องราวไหลเคลื่อนไปสู่เรื่องเล่าที่เกินจริง ลึกลับ  เพื่อไขปริศนาหรือคลี่คลายปัญหาที่รุมเร้าตัวละคร  เป็นการท้าทายชุดเรื่องเล่าแนวสัจนิยมที่โดดเด่น  ความเหนือจริงที่ปรากฏในเรื่องสั้นทั้งแปดเรื่องมีเพื่อยืนยันว่า  เหตุผลไม่อาจเป็นเพียงเครื่องมือเดียวที่อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆที่มนุษย์ประสบ  ในหลายๆครั้ง  การฟังเสียงของความเชื่อ และศรัทธาในโลกแห่งจิตวิญญาณอาจนำเราไปสู่คำตอบอีกชุดหนึ่งซึ่งมีความหมายต่อชีวิตมากกว่า ศูนย์กลางของเรื่องเล่า ณ แดน บูรพทิศ ความสำคัญของอดีต ความทรงจำ และการดำรงอยู่ของตำนานในโลกสมัยใหม่เพิ่มกลิ่นอายของความเป็นเรื่องเล่าแนวหลังอาณานิคมที่ท้าทายชุดเรื่องเล่ากระแสหลักในปัจจุบัน

กรรมการคัดเลือก ปี 2554  
๑.     ผศ. นัทธนัย ประสานนาม
ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  
๒.     รศ. ประทีป เหมือนนิล
ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์   ม.ราชภัฏเทพสตรี  
๓.     ดร. อารียา หุตินทะ
ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  
๔.     นางนรีภพ จิระโพธิรัตน์ 
บรรณาธิการนิตยสารสกุลไทย  
๕.     ดร.พิเชฐ  แสงทอง 
อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี   
๖.     นายโตมร  ศุขปรีชา 
บรรณาธิการนิตยสารจีเอ็ม   
๗.    อาจารย์ฐนธัช  กองทอง (ประธานคณะกรรมการคัดเลือก)
อาจารย์ประจำสาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร  คณะมนุษยศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย