...ความทรงจำที่คนมีต่อสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆมักจะผุดขึ้นมาเมื่อเราได้หยิบจับหรือพบเห็นมันโดยบังเอิญ บางคนอยากจะลืม บางคนอมยิ้มเพราะช่วงเวลาแห่งความสุขมันผุดขึ้นมาในหัว ขณะที่อ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ ในหนังสือรวมเรื่องสั้น "เคหวัตถุ" ทำให้ผมนึกถึงหนังเรื่องหนึ่งที่พระเอกพยายามลบความทรงจำที่มีต่อนางเอก เนื่องจากก่อนหน้านั้นเธอก็ลบความทรงจำที่มีต่อเขาทิ้งไปอย่างไม่ไยดี แต่ในระหว่างการทำงานของเครื่องลบความจำ ความทรงจำดีๆที่เขามีต่อเธอมันกลับผุดขึ้นมาในหัว เขาไม่อยากให้ความสุขเหล่านั้นหายไป เขาจึงพยายามที่จะเก็บซ่อนสิ่งเหล่านั้นไว้ในซอกหลืบของความทรงจำ แม้ว่าความพยายามของเขาจะไร้ผล รุ่งเช้าเขาตื่นขึ้นมาพร้อมกับความว่างเปล่า แต่ว่าเมื่อวันหนึ่งเขารู้ว่าความจริงแล้วความทรงจำเหล่านั้นมันจะยังคงอยู่เหมือนอนุภาคของแสงที่เล็กมากแต่เรืองรองอยู่ในความรู้สึก หลายๆคนอาจจะเคยดูแล้วกับหนังที่ผมคิดว่า Jim Carrey เล่นได้ดีที่สุด "Eternal Sunshine of the Spotless Mind"...
…อนุสรณ์ ติปยานนท์ เรียนจบด้านสถาปัตยกรรมจาก University College London และออกแบบอุตสาหกรรมจาก Domus Academy Italy แล้วมาเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะหันหลังให้แวดวงการศึกษาเพราะเขาเชื่อว่าการให้คะแนนไม่สามารถวัดคนได้ จากบทสัมภาษณ์ในคอลัมน์ “คุยนอกรอบ” ของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เขาเล่าว่าเขาอยากเขียนหนังสือสักเล่มเพื่ออุทิศให้กับเพื่อนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 9/11 ที่ New York และไม่เสียใจที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อทำงานอิสระ หลักการเขียนหนังสือของเขาคือ “พูดให้น้อย เขียนให้มากและหัดโยนสิ่งที่เขียนทิ้งไปอย่างสม่ำเสมอ” ผมครุ่นคิดแต่ก็ยังไม่เข้าใจประโยคหลัง พูดให้น้อย เขียนให้มากน่ะทำได้ แต่จะให้โยนสิ่งที่เขียนทิ้งไปบางที่มันก็ทำยากแม้ว่าใครๆ บอกอยู่เสมอๆ ว่าให้หัดเขียนอะไรที่มันสนุกๆ บ้าง ก็คนมันเขียนไม่เป็นจะให้โยนสิ่งที่ตัวเองอยากเขียนทิ้งไป แล้วหัดเขียนงานรูปแบบใหม่มันยาก คงมีสักวันหนึ่งที่ผมจะทำได้อย่างนักเขียนท่านนี้ แต่ขอเวลาหน่อย...
...สิ่งของเครื่องใช้ในบ้านล้วนมีที่มา อนุสรณ์ ติปยานนท์ เล่าเรื่องผ่าน ตู้เย็น ร่ม ปิ่นโต เตียง เรื่องราวความสัมพันธ์ของสิ่งของกับผู้เป็นเจ้าของ เครื่องเรือนต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของบ้านของครอบครัว เรื่องสั้นอีก 4 เรื่อง กะโหลก นก ยาย น้ำตาล เป็นมุมมองของนักเขียนต่อ กฎหมาย จริยธรรม สภาพสังคม “กะโหลก” ที่ว่าด้วยเรื่องของกฎหมายกับจริยธรรมสิ่งไหนกันแน่ที่จะทำให้มนุษย์เป็นคนดี แม้กฎหมายจะมีอำนาจลงโทษคนเลว แต่มันไม่มีทางทำให้คนๆ นั้นเป็นคนดีได้ “นก” เรื่องของคนๆ หนึ่งที่ชอบกินแมลงจึงสมมุติตัวเองเป็นนก “ยาย” ความคิดคำนึงของผู้ชายคนหนึ่งที่มีต่อยายของเขาในวันที่เขาต้องไปงานศพของท่าน “น้ำตาล” เป็นเรื่องราวความรักหวานอมขมขื่นของผู้ชายคนหนึ่งที่ชอบกินกาแฟจากถ้วยของคนอื่น เขาสัมผัสความรู้สึกของคนรอบข้างผ่านการลิ้มรสชาติกาแฟในถ้วยของคนๆ นั้น บางถ้วยขมขื่น บางถ้วยจืดชืด บางถ้วยเปล่าปร่า แม้ว่าทุกถ้วยจะเติมน้ำตาลลงไปก็ตาม...
... รวมเรื่องสั้นทั้ง 8 เรื่องน่าอ่านหมดทุกเรื่อง เป็นงานเขียนที่แปลกใหม่สำหรับผมที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมแฝงแง่คิดมากมาย ท้าทายจริงๆ สำหรับศาสตร์แห่งการตัดสินคุณค่า (Axiology) งานเขียนชิ้นนี้ครบถ้วนทั้ง ความจริง ความดี และความงาม โดยเฉพาะ “กะโหลก” ประโยคสุดท้ายที่ อนุสรณ์ ติปยานนท์ บอกกับคนอ่านว่าแท้จริงแล้วมนุษย์มีแต่ความว่างเปล่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดจากสติปัญญาของคนนั้น วันหนึ่งมันจะเลือนหายไปกับกาลเวลา ไม่มีสิ่งใดเป็นนิรันดร์...
...เหมือนกับกะโหลกซึ่งเป็นที่เก็บเรื่องราวมากมายไว้ภายใน แต่เมื่อกายดับสูญไปมันเหลือประโยชน์อะไรนอกจากการเป็นปุ๋ยให้กับวัชพืช...
“… ในเย็นวันหนึ่ง ผมจึงขุดหลุมฝังกะโหลกทั้งหมดลงในหลุมหลุมเดียว แล้วซื้อเมล็ดดอกไม้จำนวนมากมาใส่ลงในนั้น แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ไม่มีอะไรงอกงามออกมาเลย นอกจากวัชพืชสองสามชนิดเท่านั้น ...”
- เรื่องสั้น กะโหลก อนุสรณ์ ติปยานนท์ -
-อั๋นน้อย-
“… ในเย็นวันหนึ่ง ผมจึงขุดหลุมฝังกะโหลกทั้งหมดลงในหลุมหลุมเดียว แล้วซื้อเมล็ดดอกไม้จำนวนมากมาใส่ลงในนั้น แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ไม่มีอะไรงอกงามออกมาเลย นอกจากวัชพืชสองสามชนิดเท่านั้น ...”
- เรื่องสั้น กะโหลก อนุสรณ์ ติปยานนท์ -
-อั๋นน้อย-
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น