"...ทุกวันนี้ข้าได้แต่ขอดุอาอ์ ทุกวันนี้ข้าได้แต่สวดมนต์ภาวนา ข้าอยากให้นกกระดาษในกรงของข้ากลายเป็นนกจริงๆ เป็นนกที่บินได้และร้องเพลงได้จริงๆ ช่วยข้าด้วยอัลลอฮ์ ช่วยข้าด้วยพระพุทธเจ้า ช่วยข้าด้วยอดัม ช่วยข้าด้วย...เหนือตันหยงบารูของเรา แสงแดดแผดจ้าเกินไป ข้ามองอะไรไม่เห็น ช่วยข้าด้วย...ข้ามองอะไรไม่เห็น!..."
-ศิริวร แก้วกาญจน์ -
...ผมรู้สึกอยากอ่านหนังสือเล่มนี้เพราะว่าคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้าได้เคยตัดวรรณกรรมเรื่องนี้ออกจากราย การหนังสือที่ได้เข้ารอบด้วยสาเหตุที่ว่าเป็นวรรณกรรมที่ทำลายความมั่นคงของประเทศชาติโดยมีรัฐสภาเป็นคนตีความ ทั้งที่รางวัลพานแว่นฟ้าเป็นรางวัลสำหรับวรรณกรรมทางการเมืองที่ส่งเสริมแนวคิดประชาธิปไตยแต่ผู้ดูแลประเทศกลับมีความคิดที่ตรงกันข้ามหวาดกลัวความจริง จนไม่เข้าใจความหมายของคำว่าวรรณกรรมการเมืองซึ่งว่านอกจากจะสะท้อนให้เห็นบทบาทและกลไกของอำนาจรัฐที่มีผลกระทบด้านบวกและด้านลบต่อประชาชนแล้ว ยังสะท้อนทัศนคติของผู้คนในสังคมต่อการเมืองด้วย วรรณกรรมการเมืองแทบทั้งหมดที่ส่งเข้าประกวดแสดงภาพการเมืองในด้านลบ เช่น นักการเมืองฉ้อฉล ผู้บริหารคอร์รัปชัน การใช้อำนาจเถื่อนคุกคามประชาชน การคดโกงการเลือกตั้ง ฯลฯ จึงแสดงให้เห็นว่าคนในสังคมไม่มีทัศนะด้านบวกต่อ การเมืองไทย ดังนั้น การพยายามจะให้รางวัลแก่วรรณกรรมที่ แสดง ภาพการเมืองที่สะอาด บริสุทธิ์ ยุติธรรม จึงหาได้ยากและเป็นความคิดอุดมคติเช่นเดียวกับที่คนในสังคมปรารถนาว่าเมื่อไรการเมืองของจริงจะเป็นเช่นนั้นเสียที การจัดประกวดวรรณกรรมการเมืองจึงเป็นการแสดงความใจกว้างของรัฐที่ให้อิสระและเสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สิ่งนี้คือหลักการและอุดมการณ์อันแท้จริงของการส่งเสริมระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข...
...คุณลักษณะอีกประการของวรรณกรรมทั่วไปนั้นเกิดจากการหลอมรวมประสบการณ์และจินตนาการเข้าด้วยกันอย่างมีศิลปะวรรณกรรมเป็นเรื่องสมมติ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงแต่กวีและนักเขียนนำวัตถุดิบมาจากประสบการณ์จริงและเป็นประสบการณ์ร่วมของคนในสังคม จึงทำให้เกิดความ สมจริง และคนอ่านที่หลงในมายาของวรรณกรรมก็รู้สึกราวกับว่าเป็น ความจริง จึงทำให้คนอ่านเคลิบเคลิ้ม เช่น เชื่อว่าแม่พลอยมีชีวิตจริง หรือไม่ก็จับผิดว่าคนเขียนไม่เขียนตามข้อเท็จจริง ดังปรากฏในกรณีนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ และนวนิยายหรือเรื่องสั้นการเมือง อันที่จริง การที่ผู้อ่านเคลิ้มคล้อยตามวรรณกรรมไม่ใช่เป็นข้อด้อย หรือข้อบกพร่อง แต่กลับบ่งชี้ให้เห็นฝีมือทางวรรณศิลป์ของผู้แต่ง ที่ใช้พลังทางศิลปะโน้มน้าวผู้อ่านให้เข้าไปสู่มายาคติของวรรณกรรมได้ ดังนั้น การที่กรรมการบางท่านมุ่งจับผิดข้อเท็จจริงในเรื่องสั้นและบทกวี จึงนับว่ายังไม่เข้าใจธรรมชาติของวรรณกรรม...
...และเหนือกว่าสิ่งใดนั้นการตีความวรรณกรรมเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ต้องตีความนัยบางอย่างที่ผู้ประพันธ์แอบซ่อนไว้อย่างมีศิลปะ ในบางครั้งอาจมีการเขียนกระแทกใจคนอ่านให้รู้สึกถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดการหวงแหนและปกป้องไม่ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช้มันในทางที่ผิด และผมก็เชื่อว่าไม่มีกวีท่านใหนหรอกที่มีความมุ่งหมายจะทำลายความมั่นคงของประเทศตัวเอง...
"เมื่อได้อ่านกรณีฆาตกรรมฯ เหมือนเราได้เดินสำรวจจิตใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความรู้สึกของมุสลิม ความรู้สึกของเจ้าหน้าที่รัฐ มุมมองของชาวต่างชาติ และต้นตอของความรุนแรง ผลสุดท้ายคนที่ทุกข์ที่สุด คือ ชาวบ้าน ผมใช้เวลาอ่านหนังสือเล่มนี้ชั่วโมงกว่าๆ ในร้านกาแฟแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ข้อความที่มีตัวอักษรสีชมพูด้านบน คือ ย่อหน้าสุดท้ายของหนังสือ ผมอ่านได้เพียงครึ่งเดียวของข้อความดังกล่าว น้ำตาผมไหลเป็นทาง ผมต้องหันหน้าเข้ากำแพงเพื่อหลบสายตาของคนอื่นๆ ผมรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ผมช่วยเหลือคนไทยด้วยกันไม่ได้ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง สิ่งที่ผมทำได้ในตอนนี้ก็ไม่ได้ต่างจากชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำได้เพียงสวดภาวนาขอให้เรื่องร้ายมันผ่านพ้นไป แตกต่างกันแค่เพียงที่ๆ ผมอยู่อาศัยในตอนนี้มันปลอดภัยกว่ามากมาย"
-อั๋นน้อย-
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น