...ต้องยอมรับว่าปี 2551 การประกาศผลรางวัล S.E.A Write Award เงียบมากจนผมไม่ได้ติดตามและไม่คิดว่าหนังสือที่วางไว้บนหัวเตียงเล่มนี้ที่ถูกวางไว้ประมาณ 3 เดือนโดยไม่ได้หยิบจับเลยจะได้เข้าชิง “ศิริวร แก้วกาญจน์” เป็นนักเขียนที่ผมชื่นชมและชื่นชอบเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว ไม่ว่ายังไงถ้าผมรู้ข่าวก่อนหน้านี้ว่าเขาได้เข้าชิงเป็นครั้งที่ 5 (จากหนังสือ 6 เล่มปีที่แล้วกวีนิพนธ์ 2 เรื่องได้เข้ารอบสุดท้าย) ผมก็คงเชียร์สุดใจแม้จะยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็ตาม ความประทับใจที่มีต่อนักเขียนคนนี้ไม่ได้เกิดจากการอ่านงานเขียนของเขาครั้งแรกเมื่ออ่านเรื่องสั้นชื่อยาวอย่าง “เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง” แต่เกิดจากการอ่านกวีนิพนธ์ “เมื่อฉันหายไปจากโลกใบหนึ่ง” บทกวีไร้ฉันทลักษณ์ที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์หลายๆเรื่อง ถ่ายทอดแก่นและต่อยอดเรื่องราวของหนังแต่ละเรื่องๆผ่านอารมณ์ เหงา เศร้า สุข และประทับใจอย่างมากกับนวนิยายอื้อฉาวเรื่อง “กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด” นับจากนั้นมาผมก็เป็นแฟนตัวยงของนักเขียนท่านนี้...
...เรื่องสั้น “ข่าวการหายไปของอาริญาและเรื่องราวอื่นๆ” เป็นการเล่าเรื่องที่หม่นเหงาเศร้าสร้อยของสังคมคนเมือง และความสิ้นหวังของสังคมชนบทผ่านเรื่องราว 11 เรื่องในหนังสือเล่มนี้ ความแก่เฒ่าของความงามในยุคเก่าที่หมดไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสมัยใหม่ราวกับว่าโลกใบใหม่กำลังมาแทนที่โลกใบเก่าอย่างรวดเร็วจนผู้คนไม่ทันได้ตั้งตัว มีเรื่องสั้น 2 เรื่องที่เล่าเรื่องราวของหญิงชราที่ไฝ่ฝันถึงความสวยงามของโลกใบเก่าที่มันเคยมีชีวิตชีวา แต่โลกใบใหม่ในเรื่องสั้นอย่าง “ความคล้ายคลึงกันของพวกเรา” หรือ “ซินเดอเรลลาแห่งกรุงเทพมหานคร” มันช่างเปลี่ยวเหงาและฉาบฉวยอันเกิดจากความแตกต่างของการปฏิสัมพันธ์กันของคนในอดีตกับคนปัจจุบัน แล้วโลกใบไหนที่อาริญากำลังแสวงหา ความกลัวเกิดได้กับคนทุกยุคทุกสมัย แต่ปัจจัยต่างหากที่แตกต่างกัน สมัยก่อนผู้คนกลัวหมู่สิงสาราสัตว์ที่เป็นผู้ครอบครองผืนแผ่นดินก่อนที่คนจะไปรุกล้ำ หรือไม่ก็อำนาจเหนือธรรมชาติที่ลึกลับจนผู้คนไม่กล้าต่อกร แต่ความกลัวเหล่านี้มันก็กำลังหายไปพร้อมกับการเติบใหญ่ของโลกใบใหม่ และความกลัวในรูปแบบอื่นที่คนสมัยก่อนไม่เคยเจอแต่มันกำลังคืบคลานและแทรกสอดเข้ามาในสังคมยุคปัจจุบัน...
...นี่คือ 1 ในหนังสือ 5 เล่มใน 9 เล่มที่ได้เข้ารอบสุดท้าย S.E.A. Write Award ประจำปี 2551 ที่ผมประทับใจมากที่สุด อาจจะเป็นเพราะสำนวนภาษาของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ทำให้ผมเคลิ้มจนหยุดอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ 3 ชั่วโมงแห่งความสุข ความเศร้าและซาบซึ้ง หลั่งไหลเข้ามาตลอดเวลาที่ตาของผมจับจ้องที่ตัวอักษรแต่ละตัวๆ ในนวนิยายเล่มนี้ มันคุ้มค่าจริงๆ ครับกับการอ่านวรรณกรรมหลังจากที่ผมหันหลังให้มันมาเกือบ 3 เดือน...
...ถ้าอาริญาคือคนแห่งยุคสมัย ผมเชื่อว่าอาริญาอยากหายไปยังโลกอีกใบที่เธอฝันหา โลกอีกใบหนึ่งที่เป็นความฝันอย่างเดียวในชีวิตของเธอ...
- อั๋นน้อย -
- อั๋นน้อย -
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น