เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
Work like you don't need the money.Dance like no one is watching.Sing like no one is listening.Love like you've never been hurt.And live life every day as if it were your last.

วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

“เงาฝันของผีเสื้อ: ชีวิตคือความฝัน”

                 
      

ปณิธาน หรือความปรารถนาของคนแท้จริงแล้วมันคือสารัตถะของชีวิต เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงคนแต่ละยุคสมัยให้มองเห็นคุณค่าของชีวิตกระนั้นหรือ จินตนาการของ “เอื้อ อัญชลี” ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นตำนานการเกิดปณิธานนิยายเรื่อง “สามก๊ก” ซึ่งเมื่อพันปีก่อนเป็นเพียงตำนานพื้นบ้านที่คนสมัยนั้นมักจะนำมาเล่นงิ้ว โดยไม่มีใครทราบแน่นอนว่าใครเป็นคนแต่ง “เอื้อ อัญชลี” สร้างตัวละครชื่อ หลอกว้านจง อดีตนักกลยุทธ์ในสมัยที่ชาวฮั่นถูกปกครองภายใต้ชนเผ่ามองโกล เขาเป็นหนึ่งในกองกำลังกู้ชาติซึ่งถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่มเหมือนกับในสมัยสามก๊ก แต่เมื่อทุกกลุ่มบรรลุเป้าหมายเดียวกันคือปลดปล่อยชาวฮั่นจากมองโกลได้สำเร็จกลับแย่งชิงกันเป็นใหญ่ หลอกว้านจง และพี่น้องร่วมสาบาน หวังอิงสง จางเหวิ่นซาน เข้าร่วมกับกลุ่มของ จางซื่อเฉิง อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มของ จูหยวนจาง ซึ่งมี จูเซิง เป็นที่ปรึกษา กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มของ เฉินโหย่วเลี่ยง มี หม่าหลง เป็นกุนซือ หากเปรียบเทียบแต่ละกลุ่มเป็นสมัยเดียวกับสามก๊ก ก๊กของ จางซื่อหลง สถานะเป็นเหมือนก๊กของ เล่าปี่ ส่วนก๊กของ จูหยวนจาง คือก๊กของ โจโฉ และก๊กสุดท้ายของ เฉินโหย่วเลี่ยง เปรียบได้กับ ซุนกวน ผลสรุปสุดท้ายนั้นไม่ได้ต่างกันเหมือนกับที่ เล่าปี่ พ่ายให้กับ โจโฉ ทั้งๆ ที่เขามี ขงเบ้ง (ขงหมิง) ผู้มีสติปัญญาล้ำเลิศ หลอกว้านจง ก็ไม่ต่างกันกับ ขงเบ้ง เพราะทั้งสองเป็นนักฝันไม่ใช่นักกลยุทธ์ที่แท้จริงที่หวังผลเพียงแพ้กับชนะ สำหรับนักฝันเช่นทั้งสองคน ผลแพ้ชนะนั้นไร้ความหมาย หลายๆ คนให้นิยามขงเบ้งว่า “ขงเบ้งเปรียบประดุจขนนกทีลอยอยู่นิจนิรันดร์”


“ภายหลังความพ่ายแพ้ในประวัติศาสตร์ อุดมคติและจิตวิญญาณของขงหมิงกลับลอยพ้นกาลเวลา และไม่หายไปพร้อมกับวันคืนที่ผันผ่านยุคแล้วยุคเล่า เพราะเขาคือความฝันของผู้คน”
      
-เอื้อ อัญชลี-  
                                                                       

        …  หลังจากความพ่ายแพ้ หลอกว้านจง หันหลังให้การเมืองกลับมาเป็นนักประพันธ์อย่างที่เคยฝันไว้ในวัยเด็ก เขาช่วยอาจารย์แต่งบทประพันธ์เรื่อง “สุ่ยหูจ้วน
[1]” ที่เลื่องลือจนจบ พร้อมกับผู้ชนะอย่าง จูหยวนจาง ตั้งราชวงศ์หมิงขึ้น สงครามภายนอกจบสิ้นลง แต่แผ่นดินต้องเผชิญกับปัญหาภายใน ประชาชนถูกกีดกันเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเรื่องการดำเนินนโยบายของผู้ปกครอง การต่อสู้ครั้งใหม่เริ่มขึ้นอีกครั้ง แม้ว่าในยุคสมัยไหนสิ่งที่ประชาชนต้องการนั้นคือความสงบสุข คนรุ่นแรกจากไปเกือบหมดแล้ว แม้กระทั่ง หลอกว้านจง ที่ฝากผลงานเรื่อง “ซ่านก๋อเยี่ยนอี้[2]” ก่อนที่เขาจะจากไปตลอดกาล หน้าที่ของชนรุ่นหลังจึงเริ่มขึ้น หลัวเซียง บุตรีของ หลอกว้านจง พบรักกับ หม่าเหอ และช่วยเหลือเขากับ เยี่ยนหวางจูตี้ จากตามล่าของราชสำนักเพื่อกลับไปนำกำลังจากชายแดนภาคเหนือได้สำเร็จ หลังจากนั้นทั้งสองนำกำลังเข้ายึดเมืองหลวง เยี่ยนหวางจูตี้ ประกาศเป็นจักรพรรดิองค์ที่สามของราชวงศ์หมิง ศักราชใหม่เริ่มขึ้นพร้อมกับปณิธานของ หม่าเหอและหลัวเซียง การเดินทางออกนอกแผ่นดินครั้งแรกของลูกหลานขงจื้อได้เริ่มขึ้น จีนเริ่มติดต่อค้าขายกับต่างชาติโดยใช้การโดยสารทางเรือพร้อมกับนำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศ หลัวเซียงเป็นเหมือนนกนางแอ่นที่บินเหิรออกจากบ้านอย่างเริงรื่นแต่กลับมาพร้อมกับซากศพที่ไร้รังนอน การเดินทางจบลงพร้อมกับชีวิตของ หม่าเหอ จะหลงเหลือก็เพียงแต่เธอ ลูกหลานของขงจื้อกลับมาเหยียบแผ่นดินอีกครั้งพร้อมกับความบอบซ้ำ แต่ปณิธานของเธอยังไม่จบลง ก่อนจากแผ่นดินแม่ไปชั่วนิรันดร์เธอบอกความบัดสีของยุคสมัยไว้ในผลงานเรื่อง “จินผิงเหมย[3]” จวบจนยุคหมิงช่วงบ่ายคล้อยในยุคหมิงตอนปลายแสงอันเจิดจ้าจากดวงตะวันทำให้บุรุษนาม หวู่เฉิงเอิน ผู้ชื่นชมในนิยายทั้งสามเรื่องก่อนหน้าได้ให้กำเนิด “ซีอิ๋วจี้[4]” ที่มาตรฐานได้แตกต่างจากนิยายทั้งสามเรื่องอย่างสิ้นเชิง บริบททางสังคมได้สร้างเนื้อหาของนิยายแต่ละเรื่อง นิยายจึงเป็นเหมือนกระบอกเสียงของยุคสมัย การยึดติดกับปณิธานของแต่ละยุครังแต่จะทำให้เกิดความแตกแยก “เงาฝันของผีเสื้อ” บอกว่าชีวิตคือความฝันของใครสักคนหนึ่ง หรือบางที่อาจจะเป็นความฝันของผีเสื้อตัวหนึ่ง อย่าไปยึดติดกับมัน ความสุข ความทุกข์เกิดจากความฝัน อย่ายินดียินร้ายกับมัน เฉกเช่นเดียวกันกับกาลเวลาที่ผ่านไปแต่ละยุค มนุษย์ออกมาแสดงบทบาทเป็นขุนศึกผู้เกรียงไกร นักกลยุทธ์ที่ปราดเปรื่อง รบราฆ่าฟันกัน กอบกู้บ้านเมือง วนเวียนซ้ำรอยกันอย่างไม่สิ้นสุด ดังฝันของผีเสื้ออันเริงร่าร่ายปีกในเงาร่างของผู้คนเสมอมา...
        
-อั๋นน้อย-

                                                                         


4 ยอดนิยายในสมัยราชวงศ์หมิง

[1] สุ่ยหูจ้วน: วีรบุรุษแห่งหุบเขาเหลียงซาน


[2] ซ่านก๋อเยี่ยนอี้: สามก๊ก


[3] *จินผิงเหมย: ดอกเหมยในแจกันทอง


[4] ซีอิ๋วจี้: ไซอิ๋ว
*ในช่วงปลายราชวงศ์หมิงถึงต้นราชวงศ์ชิง "ดอกเหมยในแจกันทอง" ถือได้ว่าเป็นสุดยอดวรรณกรรมอันยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับนิยายทั้งสามเรื่อง แต่ต่อมารัฐบาลต่อต้านเนื่องจากมีเนื้อหาเกี่ยวกับเซ็กซ์มากเกินไป จึงยกให้นิยาย "ความฝันในหอแดง" ขึ้นมาเป็นสี่ยอดนิยายแทน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น